One in A Million - Part 2
มาต่อเรื่องที่เล่าค้างเอาไว้ ตอนที่แล้วจบไว้ตรงที่เราต้องเลือกว่าจะทำงานไอทีกับงานเครื่องกล มันประมาณ Catch-22 อ่ะนะ เลือกทางไหนก็ไม่ดีซักทาง ด้านหนึ่งก็เป็น “ปัญหางาน” ที่ไม่ค่อยอยากทำ อีกด้านหนึ่งเป็น “ปัญหาคน” ที่ไม่ค่อยอยากทำงานด้วย เราพยายามคิดอย่างมีเหตุผลว่าทางไหนจะได้ประโยชน์กับตัวเรามากที่สุด เนื่องจากงานไอทีไม่ใช่งานที่เราคิดอยากจะทำเองในตอนแรก แต่ตัดสินใจไปทำเพราะจะหนีปัญหาเรื่อง “คน” สิ่งที่เราถนัดและอยากจะทำคืองานเครื่องกล เราคิดว่าน่าจะกลับไปทำงานเครื่องกลอย่างเดิม และทนเผชิญปัญหาเรื่องเข้ากับหัวหน้าไม่ได้ไปก่อน จนกว่าจะหาทางออกที่ดีกว่านี้ได้

พอเราไปบอกทอมว่าเราเลือกงานเครื่องกล เขาก็มองหาคนใหม่มาทำงานไอทีแทนเรา พอดีเขาได้ Resume ของคนหนึ่งมา (เป็นหลานของพนักงานของบริษัทเราที่อเมริกา) ดู Profile แล้วก็ค่อนข้างน่าสนใจ (เรียนจบวิศวะอุตสาหการ แล้วไปเรียนต่อ MIS ที่อเมริกา แล้วก็ไปทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์อยู่ที่ญี่ปุ่นปีหนึ่ง) ทอมก็เรียกเขามาคุยเป็น Informal Interview แล้วก็ให้เราคุยกับเขาด้วย คือให้เราเล่าให้ฟังว่างานที่จะต้องทำคืออะไรบ้าง จากที่ได้คุยๆ เราคิดว่าเขาน่าจะพอทำงานที่เราทำได้ แต่เขาอาจจะไม่อยากทำ เขามองหางานในลักษณะที่เป็น IT consulting มากกว่า ทอมก็บอกว่าให้เขาลองไปคิดดูก่อน แต่ความนัยของทอมก็คือ ถ้าเขาสนใจจะทำ บริษัทเราก็จะรับเขาแล้วหละ

ระหว่างที่คนที่มาสัมภาษณ์กำลังไปคิดอยู่ ก็เกิดเหตุการณ์ซ้อนขึ้นมา คือ ช่วงกลางเดือนพฤศจิกาบริษัทของเราที่อเมริกาเกิดตัดสินใจจะปิดบริษัทในไทยที่เราสังกัดอยู่ คือ บริษัทของเรามีบริษัทในไทยอยู่ 2 บริษัท บริษัทหนึ่งมีบริษัทคนไทยหุ้นอยู่ 20% อีกบริษัทหนึ่งเป็นอเมริกันล้วนๆ เขาจะย้ายพนักงงานและทรัพย์สินไปไว้บริษัทที่เป็นอเมริกันล้วนๆ ด้วยเหตุผลทางบัญชี (น่าจะเป็นเรื่องภาษี ค่าใช้จ่าย Overhead และการต้องแบ่งผลกำไรให้หุ้นส่วนไทย) เขาก็เลยต้องออกจดหมายแจ้งพนักงาน ให้เลือกว่า ข้อ 1 - ยินยอมว่าจะย้ายไปสังกัดอีกบริษัท หรือ ข้อ 2 -ไม่ยินยอมย้ายบริษัท

คนส่วนใหญ่เขาก็เลือกข้อ 1 โดยไม่ต้องคิด เพราะการย้ายไปสังกัดอีกบริษัทหนึ่งก็ยังมีเงื่อนไขการจ้างและผลประโยชน์เหมือนเดิมทุกอย่าง แต่สำหรับเราหัวสมองหมุนติ้วประมาณ 7200 รอบต่อนาที เพราะประโยคที่ตามมากับทางเลือกข้อ 2 คือ ถ้าพนักงานไม่ยินยอมย้ายบริษัท บริษัทจะเลิกจ้างและจ่ายเงินชดเชยตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด อายุงานของเราเกือบ 7 ปี ถ้าออกจากงานจะได้ค่าชดเชย 8 เท่าของเงินเดือน และการเลิกจ้างจะมีผลวันที่ 31 ธันวาคม นั่นคือ เราจะได้เงินชดเชย 8 เท่า + เงินเดือนของเดือนธันวา (ถ้าเลือกจะลาออก เดือนธันวาก็แทบจะไม่ต้องทำงานแล้ว เท่ากับตีขิมไปเรื่อยๆ ก็ได้เงินเดือน) ก็สรุปว่าถ้าลาออกจะได้เงิน 9 เท่าของเงินเดือนคูณออกมาก็เยอะอยู่

ความจริงเราไม่ได้อยากลาออกจากงาน และเงินก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับเราซักเท่าไหร่ (อย่างน้อยก็ไม่ใช่ในแง่ที่ว่าอยากได้เงินเดือนเยอะๆ เพราะอยากรวย แต่อยากได้เงินเดือนเยอะๆ เพราะรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า บริษัทเห็นคุณค่าของเรามากแค่ไหนมากกว่า มองเงินเดือนเท่ากับการยอมรับทางสังคมอ่ะนะ) แต่เราคิดต้องหนักสุดๆ เพราะเรามองข้ามช็อตไปแล้วว่า เราต้องทนทำงานกับพี่ข. ไปซักพักเราอาจจะทนทำกับแกไม่ไหวและต้องตัดสินใจลาออกในที่สุด ซึ่งถ้าจะเป็นแบบนั้น เราก็น่าจะออกเสียแต่ตอนนี้น่าจะดีกว่า เพราะได้เงินแล้วแถมไม่เสียประวัติด้วย (ดีกว่าโดนให้ออกเพราะไม่ถูกกับเจ้านาย หรือ ลาออกเองโดยไม่ได้เงินชดเชย)

แต่เราก็ยังลังเลไม่กล้าจะเลือกข้อ 2 ในทันที เพราะกลัวว่าถ้าเราออกไปทำงานที่ใหม่ อาจจะไม่ได้งานที่ดีเหมือนปัจจุบัน ถ้าไม่นับเรื่องปัญหาระหว่างพี่ข. บริษัทที่เราทำงานอยู่ในปัจจุบันจัดว่าเป็นบริษัทที่ค่อนข้างดี เงินเดือนก็ดี ความกดดันก็ไม่มาก และเป็นบริษัทที่อยู่แถวหน้าในวงการออกแบบโรงไฟฟ้า นอกจากนี้ไปที่อื่นก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาเข้ากับหัวหน้าไม่ได้ ไปที่อื่นอาจจะเจอร้ายกว่านี้

ในระหว่างที่เราชั่งน้ำหนักว่าจะเอายังไงดี เราก็คุยๆ กับพี่ธ. และพี่อีกคนหนึ่งที่เข้ามาทำงานพร้อมๆ กับพี่ธ. (ชื่อพี่ศ.) เรา 3 คนทำงานกับพี่ข. มานานพอที่จะรู้ว่ามันมีปัญหาแต่ไม่เคยได้มาบ่นหรือพูดกันตรงๆ สมัยก่อนในฐานะที่ทำงานในระดับเดียวกัน พี่ข. ก็เป็นคนที่ไม่ค่อยยอมประนีประนอมกับใคร เวลาเกิดข้อขัดแย้งกัน คนอื่นๆ มักจะต้องยอมทำตามที่พี่ข. ต้องการ เพื่อเป็นการตัดปัญหา ช่วงปีที่ผ่านมาที่พี่ข. ทำงานเป็นหัวหน้าของพวกเรา พี่ธ. ก็จะมีปัญหากับการแบ่งงานที่ไม่ชัดเจน มอบหมายงานให้แล้วก็ยังมาก้าวก่ายความรับผิดชอบ ส่วนพี่ศ. ก็โดนกดดันอยู่เนืองๆ แกเริ่มรู้สึกว่าพี่ข. สั่งงานแบบไม่มีเหตุผล (พี่ศ. บอกเราว่า “นิจวรรณ บางครั้งมีอะไรที่เราไม่เห็นด้วย หรือไม่ถูกต้อง แต่เราก็ต้องทำตาม เพราะเราเป็น ‘ข้าราชการชั้นผู้น้อย’ หัวหน้าสั่งให้ทำอะไรก็ต้องทำตาม”)

พวกเราสามคน (สามเกลอหัวแข็ง) คุยกันว่า ข้อ 2 น่าสนใจชิบเป๋ง ทุกคนคิดตรงกันว่าลองหางานใหม่ดีกว่า ว่าแล้วก็เริ่มโทรติดต่อเพื่อนๆ และมองหางานในหนังสือพิมพ์ แต่พวกเราก็มีเวลาไม่มาก บริษัทเขาประกาศเรื่องนี้ออกมาวันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกาและให้เซ็นเอกสารคืนก่อนสิ้นเดือน ช่วง 2 อาทิตย์นั้นเราเครียดเลย คุยกับพี่ปุ๊ก พี่ปุ๊กบอกว่า อย่าไปคิดว่าจะพยายามหางานให้ได้ภายใน 2 อาทิตย์ (มันต้องโคตรฟลุคจริงๆ ที่เราจะหางานดีๆ+เงินเดือนเยอะๆ+ได้ในงานเวลาอันรวดเร็ว ถ้าเลือกแค่ข้อใดข้อหนึ่งมันก็เป็นไปได้ง่าย เช่น งานดีน่าสนใจเงินเดือนก็จะไม่มาก งานดี+เงินเยอะก็ต้องใช้เวลาหานานหน่อย แต่ถ้าจะให้ได้ All of the above มันต้องโคตรฟลุค) แกคิดว่าเราควรจะอยู่ต่อไป ปัญหาเรื่องหัวหน้างานแบบนี้ใครๆ เขาก็มีกันทั้งนั้น แต่แกก็ยังเปิดทางเลือกว่า ถ้าอยากจะลองหาประสบการณ์ใหม่ๆ ก็รับเงินก้อนโตแล้วออกมา เราคงหางานใหม่ได้ไม่ยาก

เราคุยกับเก๋พี่สาวเรา เก๋ก็เชียร์ให้ออกเลย เก๋ไม่อยากให้เราทำงานบริษัท เพราะต้องทนกับสิ่งที่เราไม่ชอบ เช่น คนที่เราไม่ชอบ หรืองานที่เราไม่ชอบ หรือวันดีคืนร้ายบริษัทเจ๊งขึ้นมา เขาก็ไล่พนักงงานออก ฯลฯ เก๋บอกว่า เราก็ไม่ได้เดือดร้อนเรื่องเงิน ออกมาทำอะไรก๊อกแก๊กซักพัก แล้วค่อยดูว่าจะไปทางไหนก็ยังได้ แต่สุดท้ายเก๋ก็เกิดลังเลขึ้นมาอีก กลัวว่าถ้าเราไม่มีอะไรทำนานๆ ก็อาจจะเบื่อจนบ้าตาย ก็เลยบอกว่าให้ค่อยๆ คิด เขาออกจดหมายมาวันจันทร์ พอวันอังคารเราลาพักร้อนกลับบ้านไปงานวันเกิดเตี่ย ก็เลยคุยกับเตี่ยกับแม่ด้วย ตอนแรกแม่ไม่อยากให้เราออก เพราะคิดว่ามีงานทำก็ต้องดีกว่าไม่มีงาน (และแม่จะกลัวเราตกงานมากๆ จะคอยถามเสมอว่า บริษัทยังดีอยู่หรือเปล่า) แต่พอเห็นว่าเรารู้สึกว่าไม่มีความสุขที่จะอยู่ เขาก็บอกว่าถ้าทนไม่ไหวก็ออกมาเหอะ ไม่เป็นไรหรอก ไม่ต้องคิดมากไม่ต้องกลุ้มใจ ส่วนเตี่ยเขาไม่อยากให้เราทำงานบริษัทมาแต่แรกแล้ว ก็เลยพูดทำนองว่าออกมาก็ดีเหมือนกัน

พอวันพุธเรากลับมาทำงาน สามเกลอหัวแข็งก็ยังคุยกันเรื่องนี้ไม่จบ ความที่จิตใจเราเริ่มวนเวียนอยู่กับความคิดที่ว่าไม่อยากจะทนทำงานกับพี่ข. มากจนติดลูป เราก็คิดว่าจะเลือกข้อ 2 แล้วหละ แต่ก็ยังคิดว่าเราไม่อยากออกไปเฉยๆ แบบนี้ เพราะทอมก็เคยพูดกับเราตลอดมาว่า ถ้าหากว่าเรารู้สึกว่าอยากจะลาออกจากบริษัทขอให้ไปคุยกับเขาก่อน อย่าไปหางานจนเสร็จสรรพเรียบร้อยแล้วค่อยมาลาออกกับเขา เราก็รีรอลังเลอยู่จนถึงวันศุกร์ พอดีทอมเรียกเราเข้าไปคุยเรื่องงานแล้วก็บอกว่า คนที่เราเรียกสัมภาษณ์ดูท่าทางเขาน่าจะตอบรับมาทำงานแล้วนะ แต่เขาคงเริ่มงานประมาณกลางๆ เดือนธันวา และอาจจะมีการส่งเขาไปเทรนที่เมืองนอก 1-2 เดือน เพราะฉะนั้นเราคงยังต้องช่วยทำงานไอทีไปก่อน เราจะได้กลับมาทำงานเครื่องกลแน่ๆ แต่คงต้องเป็นหลังเดือนมกราไป เขาถามเราว่า เขาวางแผนไว้แบบนี้ เราพอจะรับได้ไหม จะทนทำต่อไปไหวไหม

เราเจอคำถามนี้ก็อึ้งกิมกี่สิ (แต่จริงๆ ก็เหมือนจะเข้าทางเราเหมือนกัน) ถ้าตอบไปว่า รับได้-ทนไหว แล้ววันศุกร์ต่อมา เราส่งจดหมายให้ฝ่ายบุคคลว่า เราเลือกข้อ 2 ก็หมานะสิ เราก็คิดอยู่วูบหนึ่ง แล้วก็ตัดสินใจตอบไปว่า เราก็ไม่รู้เหมือนกัน เพราะมันอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงก่อนที่จะถึงวันนั้น เขาก็งงๆ ว่าอะไรจะเปลี่ยน เราก็เลยบอกเขาไปว่า เรากำลังไม่แน่ใจ เราอาจจะคิดเลือกข้อ 2 พอตอบไปแบบนี้ทอมก็เป็นฝ่ายอึ้งกิมกี่แทน พอได้สติเขาก็ถามว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงจะตัดสินใจแบบนั้น

เราคิดว่าไหนๆ จะลาออกแล้วก็น่าจะบอกความจริงเขาไป เราก็เลยบอกว่า เรามีปัญหาในการทำงานกับพี่ข. เราเข้ากับเขาไม่ได้ ซึ่งเราคิดว่ามันไม่ได้เป็นที่ว่าเขาผิดหรือเราผิด มันเป็นแค่ว่าไปด้วยกันไม่ได้ แล้วก็อธิบายเรื่องที่เรามองข้ามช็อตให้เขาฟังด้วย เราบอกไปตรงๆ ว่า ที่เรายอมไปทำงานไอทีให้เขา หลักๆ ก็เป็นเพราะว่าเราอยากจะหนีจากการทำงานร่วมกับพี่ข. (แต่ความจริงพี่ข. เคยว่าทอมว่า ไม่น่าให้เราไปทำงานไอที เพราะบางทีเราอาจจะไม่อยากทำ แต่จำใจทำเพราะทอมบังคับ ซึ่งพี่ข. เขาไม่รู้ความจริงเกี่ยวกับตัวเราอย่างหนึ่งว่า ปกติเราไม่ค่อยยอมทำอะไรที่เราไม่อยากทำหรอก กรณีนี้เราไม่อยากทำไอทีซักเท่าไหร่ แต่เราไม่อยากทำงานกับเขามากกว่า เราก็เลือกไอที เราไม่ได้ถูกบังคับให้ไปทำทั้ง 100% หรอก เพราะถ้าเป็นแบบนั้นเราก็ไม่ยอมเหมือนกัน)

ทอมก็ถามว่านอกจากเรื่องไม่ถูกกับพี่ข. แล้วมีเหตุผลอย่างอื่นไหมที่เราอยากออก งานน่าเบื่อหรือเปล่า เราก็บอกว่าสำหรับเรื่องอื่นๆ ถึงแม้จะไม่ได้เป็นไปตามที่เราคาดหวังทั้งหมด แต่เราก็ยังพอรับได้ เขาก็บอกว่าพี่ข. อาจจะเป็นคนที่ทำงานด้วยได้ยากเพราะเป็นคนแข็ง แต่ในด้านงานเขาก็ทำได้ดี เราก็บอกเขาไปว่า เพราะแบบนี้สิเราถึงคิดว่ามันเป็นปัญหาของเรามากกว่าในการที่เราทนเขาไม่ได้ ตอนนี้เป็นจังหวะเหมาะเราก็คิดว่าน่าจะขยับขยายออกไป เราก็ต้องมองอนาคตของเราด้วยเหมือนกันว่าเราจะเป็นยังไง เขาก็ทำท่าว่าเข้าใจแล้วก็ถามว่า แล้วคนอื่นๆ มีปัญหากับพี่ข. ด้วยหรือเปล่า เราก็บอกว่าก็มีบ้างเหมือนกัน (เริ่มจุดไฟเผา) แต่คนอื่นๆ เขาก็อาจจะไม่ได้มองเรื่องพวกนี้สำคัญมากนัก

เราคุยกับทอมไม่นาน เขายังคิดอะไรไม่ออกเพราะตั้งตัวไม่ทัน เขาก็เลยบอกเราได้แค่ว่า เขาไม่อยากให้เราออก แต่เขาคงต้องคิดว่าจะทำยังไงดี ขอให้เราอย่าเพิ่งเซ็นเอกสารคืนให้ฝ่ายบุคคล เรายังมีเวลาให้คิดอีกจนถึงวันศุกร์หน้า เราก็บอกเขาไปตรงๆ ว่า เรายังไม่ได้ตัดสินใจแน่วแน่หรอก สุดท้ายแล้วเราอาจจะกลัวหัวหด แล้วเลือกที่จะอยู่ต่อก็ได้ แต่ไม่ว่าเราจะเลือกทางไหน มันก็จะต้องเป็นทางที่เรารู้สึกว่าดีกับตัวเราเองมากที่สุด พอเราออกมาเล่าให้พี่ธ. กับพี่ศ. ฟัง เขาก็บอกว่า ทอมทำอะไรให้พวกเราไม่ได้หรอก พี่ข. เขาก็เป็นของเขาแบบนั้น จะให้เขาเปลี่ยนแปลงคงเป็นไปไม่ได้ เราทนอยู่ได้ก็ทน ทนไม่ได้ก็ไปหางานใหม่ ...