March Movies
About Schmidt

เดือนมีนาคมสถิติการดูหนังของเราตกต่ำมาก นับถึงเมื่อเมือวานนี้ดูหนังไปสองเรื่อง เรื่องแรกดูไปเมื่อสองอาทิตย์ก่อน คือ About Schmidt ที่แจ็ค นิโคลสันเล่นเป็น “ชมิดท์” ผู้ชายอายุ 66 ปีที่ทุ่มเททั้งชีวิตให้กับการทำงาน พอถึงวันที่ต้องเกษียณก็รู้สึกว่าชีวิตทั้งชีวิตหมดความหมายในทันที ไม่มีงานทำชีวิตก็ไม่มีค่า กลายเป็นตาแก่ที่ใช้ชีวิตไปวันๆ เข้ากับใครไม่ได้ไม่ว่าจะเป็นเมียหรือลูก กลายเป็นตาแก่ขวางโลก ไม่มีคนเข้าใจไม่มีใครจะคุยด้วย

ชีวิตของชมิดท์อาจจะเหมือนชีวิตของคนส่วนมากในสังคมเมือง พวกมนุษย์เงินเดือนทั้งหลาย คือเป็นคนธรรมดาๆ ไม่มีอะไรน่าจดจำ ไม่ได้สร้างความแตกต่างให้กับโลกมนุษย์ ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ มีอยู่ตอนหนึ่งชมิดท์พูดว่า ถ้าเขาตายไป และคนที่เคยรู้จักเขาทุกคนตายไป คงไม่มีใครรู้ด้วยซ้ำว่าครั้งหนึ่งเขาเคยมีชีวิตอยู่อยู่ในโลกนี้

แต่ช่วงไม่กี่เดือนหลังจากที่เขาเกษียณ มีเหตุการณ์หลากหลายเกิดขึ้นที่ทำให้ชมิดท์ได้ค่อยๆ ค้นพบความหมายของชีวิตอีกด้านหนึ่ง จุดเปลี่ยนแปลงเกิดจากการที่เขาได้ไปอุปการะเด็กด้อยโอกาสในทวีปแอฟริกา ในฐานะพ่ออุปถัมภ์เขาต้องเขียนจดหมายไปหาเด็กที่ชื่อ “เอ็นดูกู” ทุกๆเดือน (ภาษาอังกฤษเขาเขียนว่า Ndugu พอออกเสียงเป็นภาษาไทยก็เลยสมกับเป็นเด็กที่ต้องการผู้อุปถัมภ์) ซึ่งไปๆมาๆ ลุงชมิดท์ก็ได้อาศัยจดหมายถึงเอ็นดูกูเป็นที่ระบายความรู้สึกของตัวเอง เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเด็กจะได้รับจดหมายของเขาหรือเปล่า เด็กจะเข้าใจภาษาอังกฤษหรือเปล่า เด็กจะเข้าใจเรื่องที่เขาเล่าหรือเปล่า

หนังเขาทำออกมาเรียบๆเรื่อยๆ แต่ไม่น่าเบื่อ เราได้รู้ได้เห็นชีวิตของชมิดท์จากเหตุการณ์ที่เขาเจอ จากจดหมายที่เขาเขียนเล่าให้เอ็นดูกูฟัง บางทีก็ขำ บางทีก็เศร้า บางทีก็น่ารำคาญ บางทีก็น่าสงสาร พอถึงตอนจบถึงแม้ทุกอย่างจะไม่เป็นไปตามใจอย่างที่ลุงชมิดท์อยากให้เป็น แต่หลายๆ อย่างก็เริ่มจะ Make Sense เขารู้จักยอมรับกับเหตุการณ์ได้และมองเห็นความหมายของชีวิต เสียหน่อยก็ตรงที่ตอนจบห้วนไปนิดหนึ่ง ประมาณว่าไม่มีเวลาได้เช็ดน้ำตาก็ไฟสว่างแล้ว

Chicago

เมื่อวานซืนได้โอกาสไปดู Chicago หนังที่ได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมรางวัลออสการ์ปีนี้นั่นเอง

ในบรรดาหนังที่ได้เข้าชิงออสการ์ปีนี้ เราได้ดู The Lord of The Rings แล้วก็มา Chicago นี่แหละ เรื่องอื่นๆยังไม่ได้มีโอกาสดู ก็เลยไม่รู้เหมือนกันว่าถ้าเราต้องเป็นคณะกรรมการ เราจะให้ Chicago ได้รางวัล Best Picture หรือเปล่า แต่จะว่าไปหลังๆ นี้ความเห็นของเราก็ไม่ค่อยจะไปทางเดียวกับการตัดสินออสการ์ซักเท่าไหร่ เราดูแล้วก็ตัดสินจากความรู้สึกตัวเองว่าชอบหรือเปล่า พวกรางวี่รางวัลที่เขาแจกๆกัน เราก็รับรู้เอาไว้เป็นข้อมูลว่าหนังเรื่องไหนไม่ควรพลาดเท่านั้นเอง

ในงานประกาศรางวัลออสการ์ปีนี้ สตีฟ มาร์ตินแซวว่า “Chicago ทุ่มเททำทุกสิ่งทุกอย่างที่จะทำให้ Chicago ได้รางวัลออสการ์ปีนี้” อันนี้เป็นการกัดบรรดาบริษัทผู้สร้างผู้กำกับหนังทั้งหลายแบบกลายๆ เพราะช่วงหลังๆ ออสการ์กลายเป็นเรื่องของสร้างแคมเปญกับการล็อบบี้คณะกรรมการมากขึ้นทุกที คือบริษัทหนังพยายามจะโปรโมทหนังตัวเองทุกวิถีทาง เพื่อให้คนที่มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกหนังให้จำหนังตัวเองให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการส่งวิดีโอไปให้ที่บ้าน การออกรายการสัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ การเขียนข่าวทางหนังสือพิมพ์นิตยสารต่าง ไปจนถึงว่ามีการพยายามจะติดสินบนกรรมการต่างๆนานา

หลังๆนี้ก็เลยมีคนบางกลุ่มเห็นว่าหนังที่ได้รางวัลออสการ์มักจะเป็นหนังที่คนดูจำได้หรือคนดูชอบ (หนังตลาด) มากกว่าที่จะเป็นหนังอาร์ตหนังคุณภาพ แต่เราก็คิดว่าน่าจะมองอีกมุมหนึ่งด้วยว่า ท้ายที่สุดแล้วหนังก็คือ Commercial Art ถ้าทำหนังที่มีแต่อาร์ตอย่างเดียวแต่ไม่ขายมันก็ไม่ตอบโจทย์ ถ้าทำหนังที่ขายอย่างเดียวแต่ไม่อาร์ต มันก็อาจจะกลายเป็นหนังดาดๆเอามันส์อย่างเดียว มันต้องมีทั้งสองอย่างผสมผสานกัน

แต่คำพูดของสตีฟเกี่ยวกับ Chicago ดูจะเป็นการชมมากกว่ากัด เพราะเขาบอกต่อว่า ที่ว่า “ทุ่มเททำทุกอย่างที่จะให้หนังได้รางวัล” ก็คือ “ทำหนังดีมีคุณภาพที่ทุกคนชอบ” (แต่ก็อาจจะแอบกัดอยู่เล็กๆ เหมือนกันเพราะเท่าที่เราได้ยินมาก็เห็นว่า Chicago ก็ทำแคมเปญหนักหน่วงอยู่พอสมควรเหมือนกัน)

หลังจากที่เราดูแล้วก็เห็นด้วยว่า เป็นหนังที่เราชอบ ดูแล้วตื่นตาตื่นใจดี เมื่อปีที่แล้วใครได้ดูเรื่อง Moulin Rouge แล้วชอบ (ถึงชอบมาก) เหมือนเรา Chicago เป็นหนังที่พลาดไม่ได้ หนังสองเรื่องนี้อารมณ์คล้ายๆกันเลย แต่สาระของเรื่องไปคนละทาง Moulin Rouge พูดเรื่องความรัก Chicago พูดเรื่องฆาตกรรม เราชอบมากทั้งสองเรื่อง แต่เราว่า Chicago ดูสนุกและดูเข้าใจได้ง่ายกว่า (ตลาดกว่า? อาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ Chicago ได้ออสการ์ในขณะที่ Moulin Rouge พลาดไปเมื่อปีที่แล้ว)

้เรื่องคร่าวๆ ของ Chicago ก็คือ เวลมา (Catherine) ดารานักเต้นคนดังของ Chicago กับ ร็อกซี่ (Renee) หญิงสาวที่ยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองได้ดารานักเต้น ฆ่าคนตายก็เลยถูกส่งไปขังที่เรือนจำหญิง เวลมาฆ่าแฟนตัวเองกับน้องสาวเพราะจับได้ว่าสองคนมีอะไรกัน ส่วนร็อกซี่ฆ่าเซลส์แมนขายเฟอร์นิเจอร์ที่ยอมนอกใจสามีพามานอนด้วย เพราะเซลส์แมนหลอกว่ารู้จักกับคนที่จะทำให้เป็นดาราได้ พอได้รู้ว่าโดนหลอกก็โมโห ยิงเซลส์แมนเสียพรุนไปหมด

พอผู้หญิงสองคนนี้เข้ามาอยู่ในคุกก็มีทั้งเรื่องติดสินบนผู้คุม เรื่องของทนายจอมกะล่อนหน้าเงินที่ไม่เคยว่าความแพ้เลยซักคดีหนึ่ง (ไม่เคยถามว่าลูกความว่า ทำผิดจริงหรือเปล่า ความจริงคืออะไร ถามคำเดียว มีเงินห้าพันเหรียญหรือเปล่า) เรื่องความบ้าคลั่งของการทำข่าว และความกระหายข่าวของมวลชนที่สามารถบิดเบือนสถานการณ์จากผิดให้เป็นถูกไปได้ เนื้อหาของไม่ได้มีอะไรใหม่ แต่บันเทิงและสะใจดีเพราะเสียดสีเขาทั่วไปหมด

เราเพิ่งมารู้ทีหลังตอนที่ปิบอกว่า Chicago เคยเป็นละครเพลงที่เล่นใน Broadway มาก่อน พอรู้แบบนี้ก็ไม่ประหลาดใจแล้วว่า ทำไม Screenplay ถึงที่ผสมผสานส่วนที่เป็น Musical กับส่วนที่เป็นการแสดงธรรมดาได้อย่างกลมกลืน การตัดต่อจังหวะของหนังดีมากๆ ซึ่งอาจจะเป็นความได้เปรียบของ Chicago ฉบับหนังเหนือฉบับ Broadway เพราะสามารถใส่ลูกเล่นและเทคนิคเข้าไปได้อีกเยอะ

เราชอบที่เขาการเอาลักษณะของการแสดงบนเวทีมาปน เพื่อสื่อความหมายหรืออารมณ์ของเรื่องก็ทำได้ดี (อย่างเช่น การให้ตัวละครมาร้องเพลงประกอบการเล่าเรื่อง หรือให้มีโฆษกมาพูดนำก่อนการแสดง) ท่าเต้นและเพลงประกอบก็เจ๋งสุดๆ ท่าเต้นตอนที่ทนายความบิลลี่ ฟลินท์ (Richard Gere) พาร็อกซี่ไปแถลงกับนักข่าวครั้งแรกแล้วเขาทำท่าเต้นเป็นหุ่นเชิด Puppet สุดยอด เราชอบมากกกกก นักแสดงในเรื่องนี้คงต้องทำงานหนักพอดูในเรื่องของการเต้น โดยเฉพาะตัวเด่นๆ อย่าง Renee Zellweger กับ Catherine Zeta Jones

เราแปลกใจอยู่อย่างหน่อยว่า Renee Zellweger ทำยังไงถึงได้เล่นบทนี้ ไม่รู้ว่าเป็นโชคดี หรือเป็นความเก่ง หรือเป็นการล็อบบี้ของผู้จัดการ คือเรานึกภาพว่าถ้าเราเป็นผู้กำกับที่มองหาดาราซักคนที่จะมาเล่นบท Roxie นึกให้ตายก็ไม่นึกถึง Renee แถมตอนที่ดูหนังนี่มีบางฉากเราก็พาลมองไปว่า Renee ดูคล้ายกับ Jenna Elfman อีกตะหาก เราว่า Renee ไม่มี Identity ที่ชัดเจนซักเท่าไหร่ ไม่ได้ดูเหมาะสมกับบทมากไปว่าดาราคนอื่น (เทียบกับ Nicole Kidman ใน Moulin Rouge นั่นพอจะนึกออกว่า อ๋อ อย่าง Nicole นี่แหละที่จะเป็นนักเต้นดาวเด่นแห่ง Moulin Rouge)

เอารูปมาโชว์ว่าสองคนนี้คล้ายกันจริงๆ ...
คนนี้ Renee คนนี้ Jenna

เรารู้สึกว่าการแสดงของ Catherine Zeta Jones ดูจะอ่อนไปซักหน่อย แต่ก็อาจจะเป็นเพราะความคาดหวังจากการที่เขามีรางวัล Best Supporting Actress จากออสการ์ติดมาด้วย ถ้าเราไปดูก่อนประกาศผลออสการ์เราอาจจะไม่คิดแบบนี้ก็ได้

สรุปแล้ว Nitchawan’s Verdict ออกมาว่าไง... นิจวรรณยกให้ Chicago เป็น Movie of the Month ประจำเดือนมีนาคม