Frida-Animal Farm-Morrie-ALS
วันนี้ไปดูหนังเรื่อง Frida ที่เอ็มโพเรียม ช่วงนี้ไม่ค่อยมีหนังดูเท่าไหร่ก็เลยต้องยอมถ่อเข้ามาดูในเมือง ความจริงมีหนังออสการ์อีก ๒ เรื่องที่เราอยากดูแต่ต้องพลาดด้วยความจำใจ คือ The hours กับ Talk to her ที่เข้าฉายที่สยาม แถมเขาประกาศว่า “ฉายที่นี่ที่เดียว” ซึ่งเราก็ได้แต่ตะโกนถามในใจว่า “ฉายที่อื่นด้วยไม่ได้หรือไง (โว้ย!)” เราไม่ชอบไปแถวสยามเพราะต้องลุยรถติดแล้วยังต้องไปลำบากหาที่จอดรถ แถมต้องเสียตังค์ค่าจอดแพงๆ อีก

ซื้อตั๋ว Frida เสร็จมีเวลาเหลือประมาณ ๒๐ นาทีก็เลยไปร้านเอเชียบุ๊คส์ ตั้งใจจะไปซื้อ Tuesdays with Morrie ที่ปิยธิดาบอกว่าอ่านแล้วอยากแปลเป็นไทย เพราะอยากให้คนอ่านเรื่องนี้กันเยอะๆ (ซึ่งที่จริงก็เริ่มแปลบทแรกไปแล้ว เพราะเจอลูกยุจากสมาชิกนิจบอร์ด) เราเดินแวบเดียวก็หาเจอไม่ยากคงเป็นเพราะเป็น Bestseller ก็เลยซื้อมาพร้อมกับ The hours

เล่มหลังนี่ซื้อเพราะพลาดไม่ได้ดูหนัง (เพราะออกจากโปรแกรมไปแล้ว) แต่ไปอ่านพรพิมลเขียนในมติชนสุดสัปดาห์ (ปกติเราจะไม่อ่านคอลัมน์เกี่ยวกับหนัง ถ้ายังไม่ได้ดูหนัง แต่ความที่เรื่องนี้คิดว่าไม่ได้ดูแล้วแน่ๆ ก็เลยอ่าน -- แต่ก็ไม่วายข้ามๆ ไปบ้าง ประมาณว่ายังกั๊กๆ เอาไว้เผื่ออีกซักพักใหญ่ๆ อาจจะได้ดูทางเคเบิ้ลหรือดีวีดี) เขามาสรุปตรงที่ว่า เขาชอบ The hours มากขนาดที่ว่าถ้าวันนี้เขานอนหลับไปแล้วไม่ตื่นขึ้นมาก็ขอให้รู้ว่าไม่เป็นไรเพราะเขามีความสุขแล้ว (อะไรประมาณนี้อ่ะนะ) เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเขาหมายถึง The hours ที่เป็นหนังหรือที่เป็นหนังสือกันแน่ที่ทำให้เขาชอบขนาดนั้น แต่เราก็ลองวัดใจซื้อมาดูซิว่าจะอ่านรู้เรื่องไหม หนังสือเขาได้รางวัล "พูลิตเซอร์" เสียด้วย ถ้าอ่านแล้วไม่รู้เรื่อง ก็คงเป็นเพราะ “Gu (นิจ) เซ่อ” นั่นแหละ

กลับมาเรื่องหนัง Frida หน่อย เป็นเรื่องของ Frida Kahlo เป็นศิลปินหญิงของเม็กซิโกที่คงจะมีชื่อเสียงมากพอดู (แต่เราไม่รู้จักเลย) หนังเริ่มตอนปี 1922 (เป็นช่วงที่สตาลินกำลังพยายามจะเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ไปทั่วโลก) ชีวิตของฟรีดายิ่งกว่านิยาย (แต่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าหนังเขาแต่งเติมเข้าไปมากแค่ไหน) เขาเป็นคนที่มั่นใจในตัวเอง มีพรสวรรค์ในการวาดรูป และเป็นผู้หญิงที่เต็มไปด้วยชีวิต (lively and passionate) แต่ชีวิตของเขาก็มีอุปสรรคขวากหนามเยอะแยะไปหมด เริ่มต้นมาตอนวัยรุ่นก็เกิดอุบัติเหตุรถเมล์ชนกัน คานของรถเมล์เสียบที่หลังกับที่ขา กระดูกหักหลายท่อน ต้องเข้าเฝือกเกือบทั้งตัว นอนแข็งอยู่บนเตียงเดินไม่ได้อยู่หลายปี ต้องผ่าตัดซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนที่บ้านหมดเงินหมดทอง

ในระหว่างที่นอนรักษาตัวอยู่บนเตียง Frida ก็วาดรูปไปด้วย พอตอนหลังก็เริ่มเดินได้ก็เอารูปไปให้ศิลปินดังอีกคนหนึ่งของเม็กซิโกคือตา Diego Rivera ดู เราเรียกเอาเองว่า "ตา" เพราะแกแก่กว่าฟรีดาเยอะ เป็นเสือผู้หญิงตัวฉกาจและเป็นพวกที่นิยมคอมมิวนิสต์ด้วย ตอนแรกสองคนนี้ก็เป็นแค่เพื่อนกัน แต่ตอนหลังก็แต่งงานกันแล้วก็อยู่กันแบบลุ่มๆ ดอนๆ เพราะตาดิเอโกเป็นเสือผู้หญิงยังไงๆ ก็ไม่ยอมทิ้งลาย ที่เลวร้ายที่สุดก็คือตอนที่ไปนอนกับพี่สาวของฟรีดา

เนื้อหาหลักของเรื่องเน้นไปที่ความมุ่งมั่นที่จะทำในสิ่งที่ตัวเองรัก คือ การวาดรูปของฟรีดา ขนาดตัวเองป่วยแทบแย่ก็ยังไม่สนใจ ขอให้หมอทำยังไงก็ได้ให้วาดรูปได้ แล้วก็วาดรูปไปจนวาระสุดท้ายของตัวเอง(และเป็นรูปวาระสุดท้ายของตัวเอง) รูปที่ฟรีดาวาดออกมาสะท้อนความจริงในแบบที่บางทีก็เหมือนจะให้กำลังใจ แต่บางทีก็ดูโหดร้ายทารุณมาก (แต่มันก็เป็นความโหดร้ายทารุณที่มาจากชีวิตจริงๆ ของฟรีดาอ่ะนะ)

ในหนังนอกจากจะพูดเรื่องชีวิตของฟรีดาแล้ว ยังมีเรื่องของการวิพากย์วิจารณ์สังคมและการเมืองในช่วงนั้นด้วย บังเอิญเราเพิ่งอ่านหนังสือของจอร์จ ออร์เวลล์ เรื่อง Animal Farm ภาคภาษาไทยจบไป ซึ่งเราอ่านแล้วก็ตีความหมายได้แค่ว่ามันเรื่องประชดการเมืองที่ขนาดว่าผ่านมาแล้วเกือบ ๖๐ ปีเนื้อหาก็ยังทันสมัยอยู่ นักการเมืองก็ยังหลงมัวเมาในอำนาจและไม่เคยทำอะไรเพื่อมวลชนจริงๆ อยู่ไม่ว่าจะในสมัยที่เป็นคอมมิวนิสต์ สังคมนิยม หรือประชาธิปไตยแหว่งๆ วิ่นๆ

แต่ท้ายเล่มของ Animal Farm ฉบับที่เราอ่านนี้ คนแปลเขาเขียนบทวิเคราะห์ลึกซึ้งไปกว่าที่เราจะตีความได้ เขาที่สรุปให้ฟังว่าตัวละครต่างๆ ที่จอร์จ ออร์เวลล์เขียนขึ้นมามันมาจากใครบ้างในความจริง ซึ่งตัวหลักก็มี "โจเซฟ สตาลิน" กับ "ลีออน ทรอตสกี้" ซึ่งเป็นคนที่พยายามจะแข่งขันกับสตาลินในการจะขึ้นเป็นผู้นำรัสเซีย สตาลินพยายายามจะกำจัดทรอตสกี้ จนในที่สุดทรอตสกี้ก็หนีไปอยู่ที่เม็กซิโกแล้วต่อมาก็ถูกฆ่าตายที่เม็กซิโกนั่นเอง

ในหนังเรื่องฟรีดาเขาเล่าว่าระหว่างที่ทรอตสกี้ลี้ภัยไปหลบอยู่ที่เม็กซิโก เอดิโก้ซึ่งเป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์มาขอร้องฟรีดาให้ยอมรับทรอตสกี้กับเมียให้ไปพักอยู่ที่บ้านพ่อของฟรีดา ต่อมาฟรีดากับทรอตสกี้บังเอิญต้องใจกันแอบมีความสัมพันธ์กัน ตอนหลังเมียของทรอตสกี้ระแคะระคาย ทรอตสกี้ก็เลยจำต้องย้ายออกจากบ้านพ่อของฟรีดาไปอยู่ที่อื่นแล้วก็ถูกลอบฆ่าในที่สุด ตอนที่ทรอตสกี้หนีมาเม็กซิโกกับตอนที่โดนฆ่านี่ตรงกับบทวิเคราะห์ท้ายเล่มของ Animal Farm แต่ระหว่างทางนี่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นจริงเป็นเท็จแค่ไหน อยากจะรู้ละเอียดก็คงต้องไปค้นคว้าต่อ

หนังในเมืองนอกเขาก็มีสิทธิที่จะ “ตีความประวัติศาสตร์” หรือ “แต่งประวัติศาสตร์” ได้ตามใจคนทำ แล้วคนดูก็ยอมรับและรู้ตัวว่ากำลังดูหนังกันอยู่ จะมีก็แต่ประเทศสารขันธ์นี่แหละมั้งที่คนดูแยกแยะไม่ออก (หรือกรรมการเซ็นเซอร์หนังเขาคิดว่าคนดูแยกแยะไม่ออก) ว่าอันไหนเป็นหนัง อันไหนเป็นเรื่องแต่ง อันไหนเป็นประวัติศาสตร์ หนังหรือละครก็เลยวนเวียนกันอยู่แต่เรื่องน้ำเน่าผัวๆ เมียๆ หรือเรื่องส่งเสริมวัฒนธรรมที่ย่ำซ้ำรอยเดิมเมื่อห้าสิบปีที่แล้วโดยไม่มีการพัฒนา

ปล. เราเริ่มอ่าน Tuesdays with Morrie ไปได้ ๓-๔ บทแล้วหละ ตอนแรกที่อ่านบทแรกที่ปิฯแปลเรานึกว่า Morrie เป็นมะเร็งแต่ปรากฏว่าเขาเป็น ALS เราเลยนึกไปถึงหนังเรื่องหนึ่งที่ดูไปทางเคเบิ้ลนานมาแล้ว (ปีที่แล้วมั้ง จำชื่อไม่ได้แล้ว) เป็นเรื่องของผู้หญิงคนหนึ่งที่ทำงานเกี่ยวกับละครบรอดเวย์ ยังอายุไม่มากและกำลังเริ่มประสบความสำเร็จทั้งการงานและความรัก แล้วอยู่ๆ ก็มาเป็น ALS เขากับพี่สาวน้องสาวช่วยกันตั้งองค์กรช่วยคนที่เป็น ALS ไม่ว่าจะเป็นหาเงินบริจาคเพื่อเอาไปสนับสนุนงานวิจัยเกี่ยวกับ Stem Cells ในการที่จะช่วยรักษาคนที่เป็น ALS หรือช่วยให้ความรู้ต่างๆ เพราะโรคนี้ไม่ได้เงินช่วยจากรัฐบาลเนื่องจากมีจำนวนคนป่วยไม่มากพอ ซึ่งเขาบอก (ฟังแล้วเศร้ามาก) ว่าเหตุที่มีจำนวนคนป่วยไม่มากพอ เป็นเพราะแต่ละคนที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน (อย่างมาก ๔-๕ ปี) แล้วก็จะเสียชีวิต