How long can I keep on going?
เคยตื่นมาแล้วรู้สึกไม่อยากไปทำงานบ้างไหม ประมาณว่าไม่อยากให้ถึงวันจันทร์ ไม่อยากไปทำงาน ไม่อยากคิดเรื่องงาน เขาว่าถ้ามีอาการแบบนี้แล้วหาสาเหตุไม่ได้ หรือหาสาเหตุได้แต่แก้ไขไม่ได้ ก็ถึงเวลาต้องลาออกไปหางานใหม่ ตอนนี้เรากำลังอยู่ในอารมณ์นั้น แต่ไม่ใช่กับงานประจำที่ทำอยู่หรอกนะ (ความจริงงานประจำก็ไม่ได้แฮ้ปปี้มาก แต่ก็ไม่ถึงขนาดทำให้เรารู้สึกไม่อยากไปทำงาน) เป็นงานพิเศษที่ช่วยเก๋พี่สาวเราทำหนะ

เก๋เปิดโรงเรียนสอนพิเศษคณิตศาสตร์กับภาษาอังกฤษ เป็นกิจการแฟรนไชส์ที่เอาหลักสูตรมาจากญี่ปุ่น ตอนแรกที่เก๋มาบอกว่าจะเปิดโรงเรียนนี้ เราก็นึกว่าคงจะเป็นอีกหนึ่งในสิ่งที่เก๋ชอบไปฟังสัมมนา แล้วก็อยากลองทำ แต่พอทำได้ซักพักก็จะเบื่อและเลิกไป (อย่างแอมเวย์หรือนูสกิน ที่เราเห็นตั้งแต่ต้นมือแล้วว่าเก๋คงทำได้ไม่นานเพราะไม่ถูกกับนิสัย มานึกๆ ดูถ้าเก๋ทนๆ อึดๆ ทำไป ป่านนี้อาจจะรวยไปแล้วก็ได้ เพราะเก๋เข้าไปทำตอนช่วงแรกๆ ป่านนี้ได้อยู่บนยอดๆ ของห่วงโซ่อาหารไปแล้ว แต่ก็ดีแล้วหละเราไม่อยากให้เก๋มีส่วนเกี่ยวของกับกิจการขายตรงแบบนี้ เราไม่อยากให้คนที่เรารู้จักไปเกี่ยวข้อง เพราะมันสร้างความรำคาญให้เราผู้ซึ่งไม่ชอบการผูกขาดการบริโภคอยู่ที่ยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งเป็นอย่างมาก)

วันแรกที่เปิดโรงเรียนเก๋มาขอให้เราช่วยไปเป็นหน้าม้า ก่อนวันเปิดเก๋ไปแจกใบโฆษณาเชิญชวนพ่อแม่ผู้ปกครองให้มาฟังบรรยายเกี่ยวกับหลักสูตร และพาเด็กๆ ลูกหลานมาทดสอบระดับความรู้คณิตศาตร์ (ภาษาอังกฤษเพิ่งมาเปิดสอนทีหลัง) ทางบริษัทแฟรนไชส์เขาส่งคนมาดูวันแรก เก๋กลัวจะไม่มีคนมา ก็เลยเกณฑ์เรากับเพื่อนๆ คนรู้จักให้ไปช่วยเป็นตัวประกอบ เหตุการณ์เหมือนเพิ่งผ่านไปแป๊บๆ แต่ที่จริงคือ ๒ ปีกว่าๆ ได้แล้วมั้ง

เก๋ทำทุกอย่างเกี่ยวกับโรงเรียนนี้คนเดียว แล้วก็ดูท่าจะเป็นสิ่งที่ทำไปได้นาน จากตอนแรกเก๋ที่กังวลว่าจะไม่มีเด็กนักเรียนมาเรียน ก็มีเพิ่มขึ้นจนทำคนเดียวไม่ไหว ต้องจ้างเด็กผู้ช่วยมาช่วย ตอนแรกเปิดสอนแต่เลขอย่างเดียว แล้วเก๋ก็คิดว่าน่าจะเปิดสอนภาษาอังกฤษด้วย เพราะมีเด็กหลายๆ คนที่วิ่งรอกเรียนพิเศษหลายที่ เก๋ขอให้เราไปช่วยสอนภาษาอังกฤษ แต่เราไม่ยอมไปเพราะเราสอนไม่เป็นและเราเกลียดเด็ก

เก๋ไปได้เพื่อนสมัยเรียนมหาวิทยาลัยมาช่วยสอนให้ เขามาสอนได้อยู่พักใหญ่ก็ขอเลิก เพราะเขาทำงานประจำวันจันทร์ถึงศุกร์ วันเสาร์ก็ต้องมาสอนภาษาอังกฤษ ทำให้มีเวลาให้ครอบครัว (สามีและลูก) น้อยไป เก๋ก็เลยมาขอให้เราไปช่วยสอนแทน เพราะมีเด็กเรียนค้างอยู่ ๕ คน เราจำใจไปสอนทั้งที่ไม่รู้ว่าต้องทำยังไงบ้าง

เก๋พูดง่ายๆ ว่าหลักสูตรที่แฟรนไชส์เขาจัดไว้ให้เขามีเอกสารการเรียนให้หมดแล้ว เป็นแบบฝึกหัดกับซีดีที่เด็กต้องไปฟัง อ่านตามและทำการบ้านในแบบฝึกหัด เราก็แค่คอยฟังว่าเด็กนักเรียนอ่านออกเสียงได้ถูกต้องหรือเปล่า เข้าใจเนื้อหาของมันหรือเปล่า เราคิดว่ามันไม่มีทางที่จะง่ายอย่างที่เก๋พูด แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ เพราะเก๋หาคนมาสอนแทนครูคนเก่าไม่ได้

เราเริ่มสอนเมื่อประมาณเดือนตุลาคมปีที่แล้วโดยไม่ได้มีการเตรียมตัวที่เหมาะสม ความจริงตามข้อกำหนดของแฟรนไชส์ คนที่เป็นครูควรจะต้องไปทดสอบและเข้าอบรมเกี่ยวกับหลักสูตรและการสอน แต่เราไม่ได้ทำอะไรเลยซักอย่าง เก๋เอาคู่มือที่ได้จากการอบรมมาให้เรา เราก็อ่านคร่าวๆ แต่ก็รู้สึกว่าไม่พอ ส่วนใหญ่ที่เราไปสอนเราจะไม่เคยรู้สึกพร้อมเต็มที่ ทุกๆ สัปดาห์หลังจากที่เราสอนเสร็จก็จะรู้สึกว่าเราทำได้ไม่ดี เราจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมกว่านี้ แต่แล้วก็เหลวไหลทุกที เราก็ทำงานเต็มเวลาตั้งแต่จันทร์ถึงศุกร์ คิดทุกครั้งว่าหลังเลิกงานจะกลับไปเตรียมการสอน แต่ทุกเย็นก็ผ่านไปจนถึงเย็นวันศุกร์โดยที่เราไม่มีอะไรคืบหน้าไปมาก

เราพยายามคิดเข้าข้างตัวเองว่ามันไม่ใช่ความผิดของเราทั้งหมด เพราะหลังจากสอนไปได้ซักพักหนึ่ง ได้เห็นเอกสารบทเรียนต่างๆ ที่เด็กใช้เรียนมากขึ้น เรารู้สึกว่ามันเป็นบทเรียนที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับการเรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง แต่เหมาะกับการเรียนภาษาอังกฤษสำหรับเด็กที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรกมากกว่า (เหมือนบทเรียนภาษาไทยสำหรับเด็กไทย)

เด็กที่เราต้องสอนมีเด็กเล็กป. ๒ ป. ๔ ป. ๕ อย่างละคน และเด็กโตม. ๒ กับม. ๔ อย่างละคน ตอนแรกเราไม่ได้กังวลกับเด็กเล็กมากนัก เพราะสิ่งที่เขาต้องเรียนยังไม่ยากมากนัก เป็นแค่การหัดออกเสียงตาม และเริ่มเรียนรู้คำศัพท์ แต่เรากังวลกับเด็กโตเพราะเนื้อหาในระดับโตๆ ขึ้นไปเขาจะเน้นไปที่การอ่านทำความเข้าใจ (Reading Comprehension) เราคิดว่า Reading Comprehension มันสอนยากมาก (ไม่เฉพาะภาษาอังกฤษ ภาษาไหนๆ ก็ยากทั้งนั้น) เพราะมันเป็นการที่ต้องเรียนรู้ต้องจำคำศัพท์ หลักไวยากรณ์ให้ได้แม่นยำ แล้วต้องเข้าใจมันมากพอถึงจะเอาไปประยุกต์ใช้เวลาอ่าน

คนเรียนภาษาอังกฤษมากันตั้งครึ่งค่อนชีวิต ท่องศัพท์ท่องไวยากรณ์กันได้ปาวๆ แต่เอาไป Apply ไม่ได้ ก็ยังสอบ Reading Comprehension ไม่ผ่านกันเยอะแยะ (คำว่า "สอบผ่าน" ไม่ได้หมายถึงแค่การทำข้อสอบนะ แต่หมายถึงคุณเข้าใจในสิ่งที่ได้อ่านหรือฟังหรือเปล่า) เราสอนเด็กโตไปก็เครียดไป เพราะเราอยากจะให้เขามี Skill ตรงนี้ แต่ก็ไม่รู้จะทำยังไง

เราพยายามแก้ปัญหากับเด็กโตด้วยวิธีของเราเอง เราคิดว่าการจะอ่านทำความเข้าใจได้ ต้องรู้จักคำศัพท์ก่อน ตอนแรกๆ ก็จะบอกเด็กนักเรียนว่าคำไหนไม่รู้จักให้หัดเปิดดิกชันนารี เปิดบ่อยๆ ก็จะรู้จักศัพท์มากขึ้นไปเอง แต่เราไม่เคยบังคับ ก็เป็นธรรมชาติของคนที่จะขี้เกียจ เขาก็จะไม่เปิดดิกชันนารีถึงแม้จะไม่รู้จักศัพท์หรืออ่านเรื่องไม่เข้าใจ ตอนหลังเราก็เลยทำเป็นแบบฝึกหัดคำศัพท์ออกมาต่างหาก เป็นการบังคับให้เขาต้องเปิดดิกชันนารี แต่ก็ช่วยได้ไม่มากเพราะเปิดดิกชันนารีก็เปิดไป แต่เขายังจะต้องหัดที่จะจำหรือนำไป Apply เวลาอ่านเรื่องที่อื่นๆ ด้วย ซึ่งตอนนี้เรายังนึกไม่ออกว่าจะทำยังไงให้เขาทำตรงนี้ได้

วันก่อนได้อ่านข้อเขียนของไมเคิล ไรท์ ฝรั่งที่รู้เรื่องไทยมากกว่าคนไทยอย่างเรา เขาบอกมาอันหนึ่งเรารู้สึกว่า มันจริงมากๆ คือ เขาบอกว่า คนควรจะเข้าใจว่าภาษาอังกฤษมันไม่ใช่เป็นวิชาอย่างวิทยาศาสตร์ ที่ครูคนสอนจะเป็นคน"แจกจ่ายความรู้ให้กับคนเรียน" มันเป็นเรื่องของทักษะและความชำนาญ ถ้าคนเรียนไม่ฝึกฝน"เอง" ไม่หัดคิดหัดใช้ให้ชำนาญ"เอง" ก็ยากที่จะเรียนได้ดี ความจริงอันนี้ทำให้เรายิ่งอยากร้องไห้ เพราะเรารู้สึกว่ามันถึงทางตัน

แถมมาช่วงหลังๆ นี่เราก็เริ่มมามีปัญหากับเด็กที่เป็นเด็กเล็กเพิ่มขึ้นอีก เพราะเขาเริ่มที่จะเรียนระดับสูงมาเรื่อย เราก็สอนยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะอย่างที่บอกว่าแบบฝึกหัดมันเหมาะสำหรับเด็กที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรกมากกว่า เรายอมรับว่าหลักสูตรคณิตศาสตร์ของแฟรนไชส์นี้เขาดี ภาษาอื่นๆ ก็อาจจะดีด้วย แต่ภาษาอังกฤษในลักษณะที่มันเป็นอยู่นี้ มันไม่ใช่ ตัวเราเองก็ไม่มีปัญญารู้คิดว่าจะแก้ไขแบบฝึกหัดให้เป็นยังไงถึงจะเหมาะสม เรารู้อยู่อย่างเดียวว่าอยากเลิกสอนมากๆ

เราอยากเลิกสอนเพราะ เรารู้สึกว่าเราทุ่มเทกับการสอนได้ไม่เต็มที่ เรารู้สึกผิดต่อเด็กที่มาเรียนและพ่อแม่ผู้ปกครองของเขา เขาต้องเสียเงินมาเรียนกับเราเดือนหนึ่งๆ ก็หลายสตางค์อยู่ แถมเสียเวลาด้วย แต่ผลที่ได้กลับไปมันไม่คุ้มกับเงินทองและเวลาที่เขาต้องเสียไป นอกจากนี้เราก็ยังรู้สึกว่าไม่มีคุณสมบัติพอที่จะไปสอน เพราะที่เราบอกว่าเอกสารการสอนมันไม่เหมาะสม ความจริงมันอาจจะไม่ใช่ อาจจะเป็นที่ตัวเราเองไม่มีความรู้ความเข้าใจในการเอามันมาใช้ให้เหมาะสมก็ได้

ความจริงเรายังมีเหตุผลอื่นๆ ที่ทำให้อยากเลิกสอน เช่นว่า เราไม่ชอบเด็ก (โอเค อันนี้พูดไปแล้ว) เราอยากจะไปเที่ยวต่างจังหวัดหรือไปดำน้ำได้โดยไม่ต้องกังวลว่ามีภาระค้างคาอยู่ เราอยากจะได้มีวันหยุดเสาร์อาทิตย์เอาอยู่ไว้บ้านได้นอนตื่นสายโด่ง ฯลฯ แต่พูดเหตุผลพวกนี้แล้วมันฟังดูไม่ดี สู้บอกว่าอยากเลิกเพราะรู้สึกผิดไม่ได้ ฟังแล้วภาพพจน์ดีกว่ากันเย้ออออะ

ตอนนี้เราก็ยังคงต้องไปสอนภาษาอังกฤษอยู่ ทุกๆ เช้าวันเสาร์ตื่นขึ้นมาก็ต้องพยายามบอกตัวเองว่าเรายังคงต้องสอนไปเรื่อยๆ จนกว่าพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กจะให้เด็กเลิกเรียนเพราะคิดว่ามันไม่คุ้ม สอนไปเรื่อยๆ จนกว่าทางแฟรนไชส์เขาจะบอกให้เลิกสอนเพราะครูไม่ได้มาตรฐานตามที่เขากำหนด สอนไปเรื่อยๆ จนกว่าเก๋จะยอมรับได้จริงๆ ว่าควรปิดหลักสูตรภาษาอังกฤษเพราะมันไม่เวิร์คมันไม่คุ้มกับสิ่งที่ทั้งคนเรียนและคนสอนต้องลงทุนลงไป แต่ที่เราต้องบอกตัวเองให้หนักก็คือเราต้องสอนไปเรื่อยๆ และพยายามอย่าให้ถึงจุดที่เราจะทนยอมรับตัวเองไม่ได้ ...