General News
ช่วงนี้ไม่รู้พี่ปุ๊กเป็นอะไร ชอบมาเขียนรายงานข่าวในเว็บบอร์ดเรา วันก่อนเขียน “ข่าวทั่วไป” เป็นเรื่องคดีหมอวิสุทธิ์ หห มาอ่านแล้วก็บ่นว่า คนบอร์ดนี้น่ากลัวจริงๆ คุยเรื่อง ข่าวฆาตรกรรมเป็นข่าวทั่วไป แทนที่จะคุยเรื่อง พี่บอลเลิกกับน้องทาทา หรืออย่างอื่นเหมือนที่คนทั่วไปเขาจัดว่าเป็นทั่วไป อันนี้ก็แล้วแต่ใครจะคิดว่าข่าวไหนเป็นข่าวทั่วไปอ่ะนะ แต่เรื่องที่จะเขียนวันนี้แตกประเด็นจากที่พี่ปุ๊กมาเล่าว่าดร. สมเกียรติอ่านข่าวบันเทิงฮอลลีวู้ดแบบจำใจ เพราะว่ากระแสคนดูต้องการรู้ข่าวบันเทิง แต่ข่าวบันเทิงหรือข่าวอะไรๆ ก็ต้องเสียเงินซื้อมาเหมือนกัน ดร.คงเสียดายที่ไหนๆ จ่ายเงินซื้อแล้วก็น่าจะซื้อข่าวที่มีประโยชน์ประเทืองปัญญา เราฟังแล้วก็เห็นใจดร.สมเกียรติ

รายการของดร.สมเกียรติตอนเช้านี่เราก็ดูมาตั้งแต่ตอนเพิ่งเริ่มจัด (ความจริงมาถึงตอนนี้ก็ยังเรียกได้ว่าจัดมาไม่นาน) เลยทันได้ฟังว่าคอนเซ็ปต์ของรายการจะเป็นยังไง เป็นรายการที่สรุปเหตุการณ์รอบโลกที่น่าสนใจในแต่ละวัน ข่าวที่นำเสนอก็รวบรวมมาจากสำนักข่าวต่างๆ ทั้งชาติตะวันตก (CNN BBC สำนักข่าวในยุโรปฯลฯ) และตะวันออกอย่างจีนญี่ปุ่น (และคิดว่าน่าจะรวมสำนักข่าวอาหรับอย่าง อัลจาซีเราะห์ ด้วย)

ดร.สมเกียรติประกาศรับสมัครผู้สื่อข่าวมือใหม่ ที่จะมาสอนให้ทำหน้าที่แทนตัวดร.สมเกียรติต่อไปในอนาคต และจะมีคนที่ไปผู้สื่อข่าวระดับสากลด้วย คือแผนระยะยาวจะมีนักข่าวไทยไปทำข่าวที่ต่างๆ เองแทนที่จะรวบรวม (ซื้อ) ข่าวมาจากสำนักข่าวต่างประเทศ เห็นประกาศรับสมัครอยู่พักใหญ่ก็ยังไม่ได้ตัวซักที จนมีอยู่วันหนึ่งเราได้ยินดร.บอกว่า “ตอนนี้ยังเปิดรับสมัครนักข่าวอยู่ ช่วยมาสมัครกันหน่อยเถอะนะครับ หายากเหลือเกิน” เราคิดว่าคนที่ไปสมัครงานกับดร. คงมีเยอะ แต่คนที่จะมีคุณสมบัติตรงกับที่ดร.ต้องการคงไม่มี

พูดตรงนี้แล้วก็ไปนึกถึงอีกรายการหนึ่งที่ดูไปเมื่อหลายอาทิตย์ก่อน คนจัดรายการคือแฟนพี่ปุ๊ก (คุณจักรภพ เพ็ญแข – คือ ไม่ต้องบอกก็คงเดากันได้ว่าพี่ปุ๊กแกโมเมเอาเอง คุณจักรภพแกไม่รู้เรื่องด้วยแน่) เขาเชิญคนของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ (ไม่แน่ใจว่าเป็นบก.หรือเจ้าของ) กับบก.ของนิตยสารเกี่ยวกับดนตรี (ชื่ออะไรไม่รู้) มาพูดคุยกันเรื่องว่าจบนิเทศศาตร์แล้วทำยังไงถึงได้งานทำ (เดาเอาว่าสมัยนี้เด็กที่จบด้านนิเทศศาสตร์คงล้นตลาด) ที่เราไม่รู้ว่าแขกรับเชิญเป็นใครแบบแน่ๆ ไม่ใช่ว่าแก่แล้วเลยหลงลืม แต่เรามาดูทีหลังแล้ว ไม่ทันตอนเขาแนะนำตัว

เราว่าคนทำรายการสมัยนี้ น่าจะตัวหนังสือแถบๆ ข้างล่างบอกชื่อคนที่มาพูดตลอดเวลานะ จะได้ทำให้คนดูรู้ว่าใครเป็นใคร ปกติคนทำรายการเขาจะบอกชื่อเฉพาะตอนแนะนำตัว แล้วก็ไม่บอกซ้ำอาจจะเป็นเพราะกลัวเฝือ แต่คนที่ไม่ทันดูตอนแรกอย่างเราก็งงตามไม่ทัน ยังดีที่เรารู้สึกว่าเรื่องน่าสนใจก็เลยฟังต่อ แต่ถ้าเป็นเรื่องแบบปานกลางๆ รายการก็อาจเสียคนดูไปอย่างน่าเสียดาย เราว่าสมัยนี้คนไม่ค่อยมีสมาธิดูอะไรติดต่อกันได้นานๆ (ผลเสียอันเกิดจากประดิษฐ์กรรมที่เรียกว่า “รีโมทคอนโทรล”) เพราะฉะนั้นน่าจะทำอะไรที่เอื้อต่อการบริโภคข้อมูลแบบโฉบไปโฉบมาบ้างก็จะดี อันนี้ใครที่ผ่านมาอ่านแล้วเกิดเกี่ยวข้องกับการทำรายการโทรทัศน์ก็รับไว้พิจารณาด้วยแล้วกัน

ในรายการของคุณจักรภพ แขกรับเชิญเขาบ่นตรงกันว่า คนที่จบนิเทศสมัยนี้ไม่ค่อยมีคุณภาพ เช่น จะมาทำงานนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์ไม่มีความสามารถในการเขียนข่าวเลย ฟังแล้วก็น่าแปลกใจเพราะเราคิดว่าการที่มีการเปิดสาขาวิชาที่เฉพาะเจาะจงสำหรับอาชีพ น่าจะมีการสอนที่เข้มข้นขึ้น เตรียมความพร้อมของคนให้มากขึ้น แต่กลายเป็นว่าดูเหมือนว่าจะแย่ลง บางทีคนที่ไม่ได้จบทางนิเทศมาอาจจะมีความสามารถทำงานได้ดีกว่าด้วยซ้ำ อันนี้ถ้าไม่โทษว่าเป็เพราะคนที่เรียนห่วยเอง ก็ต้องโทษที่การเรียนการสอนสมัยนี้ว่าอะไรๆ มันสำเร็จรูปไปหมด จนคนลืมคิดไปว่าจะความรู้มันยัดเยียดกันไม่ได้ มีความรู้แต่เอาไปประยุกต์ใช้ไม่ได้ก็สูญเปล่า ทักษะต่างๆ ถ้าไม่ฝึกฝนก็ไม่ก้าวหน้า

คนที่เป็นบก.นิตยสารดนตรีบอกว่า คนที่เข้าไปทำงานกับเขาหลังๆ นี้ จะทำงานกันเหมือนกับส่งการบ้านส่งข้อสอบ ทำให้มันเสร็จๆ ไปแล้วก็ให้บก.ตรวจว่าผิดหรือถูก เขาบอกว่าเขาไม่ได้ต้องการแบบนั้น เขาต้องการคนที่อยากทำงาน รักในงานที่ทำ และเข้าใจว่าความคาดหวังในผลงานของพวกเขาคืออะไร ตรงนี้เราเดาเอาเองว่า อาจจะเกิดมาจากการที่เด็กบางส่วนเลือกวิชาเรียนตามกระแส ไม่ได้เลือกตามความชอบ บางคนเกลียดวิชาภาษาไทย ให้สอบอ่านเอาเรื่อง เขียนเรียงความก็เฉียดตกอยู่ตลอดเวลา แต่พยายามตะเกียกตะกายจนได้มาเรียนนิเทศ แล้วก็ต้องมาทำงานเขียนคอลัมน์หนังสือ แล้วจะทำได้ดีไหมเนี่ย ...

เขาสรุปตรงกันในรายการว่า ถ้าจบนิเทศมาแล้วจะให้ได้งาน ก็ต้องพยายามเสริมสร้างความรู้และศักยภาพในตัวเอง จะต้องมีความรู้ในด้านที่ตัวเองจะไปสมัครงาน เช่น จะไปทำนิตยสารเรื่องดนตรีก็ต้องรู้เรื่องเพลงเรื่องนักร้อง รวมทั้งต้องมีทักษะที่เกี่ยวข้องอย่างการอ่าน การเขียนด้วย จะไปทำรายการสารคดีท่องเที่ยวก็ต้องชอบที่จะออกไปตามที่ต่างๆ และเสาะหาความรู้เกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยว สรุปสั้นๆ (เราเป็นคนสรุปเอาเอง) ว่าต้องมีความรู้ (หรือใฝ่หาความรู้) ซึ่งตรงนี้มันต้องอาศัยความรักในงานเข้าไปด้วย คือถ้าไม่รักจะให้ไปขวนขวายมันก็คงยากลำบากมาก

เราชักพูดออกไปไกล กลับไปที่เรื่องดร.สมเกียรติหานักข่าวไม่ได้ซักที เราว่าคนที่ดร.ต้องการน่าจะเป็นคนที่จบทางด้านนิเทศน์ด้านการทำข่าวทำโทรทัศน์ (มีเยอะมาก) เป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรง (มีเยอะ) เก่งภาษาอังกฤษ (ก็น่าจะยังเยอะอยู่) มีความรู้รอบตัวดี (เริ่มน้อยลง) มีความทุ่มเทในการทำงาน (น้อยลง) มีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ (น้อยลงอีก) และรู้จักที่จะเรียนรู้สิ่งเหล่านั้นด้วยตัวเอง (ยิ่งน้อยลงไปอีก) อันนี้เป็นการเดาของเราจะผิดหรือถูกเราไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ คนที่ดร.สมเกียติต้องการจะต้องเป็นคนเก่งมากๆ เพราะลองนึกภาพว่า ถ้าต้องไปทำข่าวตามที่ต่างๆ คงจะมารอให้คนบอกว่า ต้องทำโน่นทำนี่ คงไม่ได้ ต้องคิด ต้องตัดสินใจ วางแผนลงมือทำเองทั้งหมด จะมาเอ๊าะแอ๊ะเงอะงะคงไม่ได้ ไม่รู้ป่านนี้ดร.หาคนได้แล้วหรือยัง หรือว่าถอดใจไปแล้ว (กลับไปซื้อข่าวจากสำนักต่างประเทศต่อไป)

พูดถึงข่าวในเมืองไทยแล้ว เราว่ามันก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ไม่เอื้อให้สังคมไทยเป็นสังคมความรู้ เมื่อก่อนเรารับนิตยสาร Time อยู่เป็นประจำ อ่านบ้างไม่อ่านบ้าง แต่ก็ได้เปิดดูว่าอาทิตย์นี้เรื่องเด่นคืออะไร ก็มีหลากหลายทั้งการเมือง เศรษฐกิจ เทคโนโลยี การแพทย์ หรือแม้แต่บันเทิง เวลาที่เรื่องไหนเป็นเรื่องเด่นเขาก็จะเจาะลึกลงไปในประเด็น แสดงทั้งข้อดีข้อเสียของเรื่องนั้นๆ (อย่างเรื่องทำเลสิก ที่เราเคยเล่าไปแล้วเขาก็ไปสัมภาษณ์ทั้งหมอ ซึ่งต้องโปร เรื่องนี้แน่ๆ และคนไข้ที่ทำแล้วมีปัญหาแบบไม่สามารถเยียวยาได้) เราดูนิตยสารเขาแล้วก็รู้สึกว่ามันหลากหลาย และมี “ที่ยืน” ให้คนทุกคนในสังคม เปิด "ทางเลือก" ให้ทุกคนได้ตัดสินใจ

แต่ลองหันมาดูข่าวในสื่อของเมืองไทยหรือสิ เหมือนกันไปหมด การเมืองๆๆๆ ดาราๆๆๆ หวยๆๆๆ เคยเห็นข่าวการศึกษาหรือการคิดค้นวิจัยอะไรพาดหัวข่าวหน้าหนึ่ง หรือเป็นหัวข้อข่าวใหญ่ทางทีวีไหม มีน้อยมากๆ และการนำเสนอก็น้ำเน่ามากๆ การให้ข้อมูลก็ไม่ค่อยเป็นกลาง ไม่เน้นให้คนคิดหรือตัดสินใจด้วยตัวเอง ไม่กระตุ้นความรู้ แต่จะโทษสื่อฝ่ายเดียวก็ไม่ได้ ก็ในเมื่อสังคมอยากบริโภคข่าวสารแบบไหน เขาก็พยายามจะนำเสนอให้ตรงใจมากเท่านั้น ถ้าเรายังไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคข่าวสาร ก็คาดว่าเราจะมีแต่ข่าวสารอย่างที่เป็นอยู่ให้บริโภคอยู่ต่อไป....