New Diary & F.L.T.
เรากลับจากอังกฤษตอนปลายปี 95 แล้วก็กลับไปอีกตอนต้นปี 96 เพื่อไปรับปริญญา ไปแค่ประมาณอาทิตย์เดียว จุดประสงค์คือพาแม่ไปเที่ยว (ที่จริงคือพาแม่ไป “ฝึกความอดทน” เพราะเราพาแม่เที่ยวด้วยการเดินๆๆๆ ขึ้นรถไฟใต้ดินๆๆ ฯลฯ ด้วยความงกไม่ยอมขึ้นแท็กซี่ เราพาแม่ไปกินอาหารจีนแบบจานเดียวบ้าง ให้แม่กินขนมปังบ้าง ผลไม้บ้าง สลัดบ้าง ไม่ได้เข้าร้านอาหารหรูๆ หรือร้านอาหารไทย เพราะมันแพง)

เราไปพักที่หอพักของพี่ปุ๊กคืนหนึ่งก่อนวันรับปริญญา พี่ปุ๊กทำกับข้าวให้กินด้วย (ใจดีอย่างไม่น่าเชื่อ) ส่วนวันที่เหลือก็มาพักในลอนดอน ระหว่างอยู่ในลอนดอน ก็เที่ยวบ้าง พักบ้าง บางทีแม่เหนื่อยก็บอกว่า เรากลับบ้าน (หมายถึงแฟลตที่เราเช่าอยู่) กันดีกว่า แล้วอยู่ๆ ไปได้สามสี่วัน แม่ก็ร้องไห้ เราก็อึ้งไป แม่บอกว่า คิดถึงบ้าน (หมายถึงบ้านที่เมืองไทย)

เราตกใจคิดว่าพาแม่มาลำบากแท้ๆ เลย แต่แม่บอกว่าไม่ใช่ มาเล่าให้เก๋ฟังทีหลัง จำได้เลาๆ ว่าเก๋บอกว่า แม่คงคิดถึงเตี่ย คิดถึงการอยู่บ้านมากกว่า เพราะก่อนหน้านั้นแม่ไม่ค่อยได้เดินทางไปไหน และถ้าไปไหนก็จะไปกับเตี่ย เพิ่งมาช่วงหลังๆ นี้เอง ตอนที่เราทำงานแล้ว ที่แม่จะไปไหนๆ บ่อยมากๆ (ไปเมืองจีนกับเตี่ยปีละ 2-3 ครั้ง) ไปทำบุญตามต่างจังหวัดกับเพื่อนๆ แทบทุกเดือน (โดยไม่มีเตี่ยไปด้วย) ตอนนั้นแม่คงยังไม่ชินมากกว่า

ออกนอกเรื่องอีกและ เราตั้งใจจะเล่าว่าตอนที่เราพาแม่ไปอังกฤษ ทำให้เราได้มีโอกาสรู้จักเรื่องที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง เพราะความที่เราพาแม่ไปเที่ยวแบบน่าเบื่อๆ และร้านรวงในอังกฤษมันปิดแต่หัวค่ำ ตอนนั้นก็ยังเป็นหน้าหนาวฟ้ามืดเร็วมาก เย็นๆ ก็กลับเข้าบ้านก็ดูทีวี เราบังเอิญได้ดูรายการหนึ่งเขาพูดถึงความมหัศจรรย์ของ Fermat’s Last Theorem (กฎข้อสุดท้ายของแฟร์มาต์) ว่ามันเป็นกฎที่นักคณิตศาสตร์ที่ชื่อแฟร์มาต์ตั้งขึ้นมาเมื่อประมาณสามร้อยปีก่อน และมีนักคณิตศาสตร์มากหน้าหลายตาพยายามจะหาบทพิสูจน์ แต่ก็ไม่มีใครสามารถพิสูจน์ซักที จนกระทั่งปี 1995 ก็มีคนพิสูจน์ F.L.T. ได้

เราดูรายการนี้แบบครึ่งหลับครึ่งตื่น ฟังก็รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง แต่ก็จำชื่อ Fermat’s Last Theorem ได้ขึ้นใจ ก็กฎบ้าบออะไรกันนี่ ถึงทำให้นักคณิตศาสตร์ชั้นยอดจอมเยี่ยมยุทธ์ทั้งหลายมาทดลองพิสูจน์กันเป็นร้อยๆ ปีก็ยังพิสูจน์ไม่ได้ เราเก็บความอยากรู้ของเราเอาไว้ซอกลึกๆ ของสมอง

จนกระทั่งเราไปทำงานที่อเมริกาตอนปี 98-99 เราได้ไปนั่งในร้านหนังสือบ่อยๆ เราก็เดินวนเวียนดูว่ามีเรื่องอะไรที่เราอยากอ่าน (โดยไม่เสียตังค์) ก็ได้บังเอิญไปเจอหนังสือเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า Fermat’s Last Theorem Unlocking the Secret of an Ancient Mathematical Problem ของ Amir D. Aczel เหมือนพรหมลิขิตเลยเชียวหละ

คุณ Amir เขาเขียนเรื่องเกี่ยวกับ F.L.T. ไว้ในแง่มุมที่น่าสนใจมากๆ (แต่ตอนซื้อไม่ได้รู้อะไรมากหรอกนะ แต่ว่าซื้อเพราะเห็นว่ามันเกี่ยวกับเรื่องที่เราอยากรู้ที่ค้างคาอยู่ในใจ) เพราะจากที่เราคิดว่าการที่มีคนพยายามจะพิสูจน์ F.L.T. คนแล้วคนเล่าแต่ไม่สำเร็จซะทีเป็นเรื่องมหัศจรรย์แล้ว แต่ปรากฏว่าเรื่องราวของคนที่พิสูจน์ F.L.T. ได้ (ชื่อ Andrew Wiles) และหนทางในการพิสูจน์ของเขากลับเป็นเรื่องที่มหัศจรรย์ยิ่งไปกว่าอีก

เราไม่เคยคิดว่าเราจะมีความสนใจใน Pure Math มาก่อน ด้วยรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องยากยิ่งเกินจะทำความเข้าใจ แต่เราอ่าน F.L.T. ของคุณ Amir อย่างใจจรดจ่อ เขาเก่งในการลำดับเรื่อง มีการบรรยายทฤษฎีคณิตศาสตร์ที่เกี่ยวข้องเป็นระยะๆ เพื่อช่วยให้คนอ่านเข้าใจเรื่องมากขึ้น เขาให้น้ำหนักระหว่าง Drama และ Math ได้ดีมากๆ เลยนี่นา (อย่าสงสัยว่า มี Drama ได้ไง) เราอ่านจบก็ร้อง เฮ้อ... ออกมาในใจ อยากให้คนไทยได้อ่านหรือได้ฟังเรื่องนี้บ้าง แต่ก็คงไม่มีสำนักพิมพ์ไหนคิดจะเอามาแปล

เราเอาหนังสือเล่มนี้ไปให้เพื่อนที่เป็นฝรั่งอ่าน เขาก็งงๆ เล็กน้อยว่าอ่านอะไรฟะ แต่อ่านจบก็บอกว่าน่าสนใจดี เรากลับมาเมืองไทย เอาหนังสือกลับมาก็ไม่ได้ให้ใครเอาไปยืมอ่าน แต่เมื่อหลายอาทิตย์ก่อนเราคุยให้แม่ไอโกะฟังว่าเราหาเรื่องใส่ตัวอีกแล้ว คือไปทำไดอารี่อีกเล่มหนึ่งเพื่อเอาไว้เขียนเล่าเรื่องงูๆ ปลาๆ ที่เราฟังหรืออ่านมา เราบอกว่าทำไปก็ไม่รู้จะได้ประโยชน์อะไรหรือเปล่า แต่แม่ไอโกะให้กำลังใจเราว่าอย่างน้อยก็อาจจะทำให้คนที่ผ่านมาอ่านได้รู้ว่าอินเตอร์เน็ตไม่ได้มีเอาไว้แช็ตหรือเล่นเกมเท่านั้น (ยังมีไว้เขียนเรื่องไร้สาระให้คนอื่นอ่านอีกด้วย) ถ้าจะดีไปกว่านั้นเรื่องที่เราเขียนก็อาจกระตุ้นให้เขาอยากรู้อยากค้นคว้าเรื่องอื่นๆ มากขึ้น

หลังจากนั้นเราก็คิดว่าเราจะเอาเรื่องอะไรมาเล่าดี แล้วก็นึกไปถึงเรื่อง F.L.T. ก็เลยคิดว่าจะเอามาแปลในไดอารี่เล่มใหม่ ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นการหาเรื่องใส่ตัวหรือเปล่า เพราะหนังสือหนาประมาณ 150 หน้า มี Math ยากๆ ปนอยู่ประมาณครึ่งหนึ่ง เราแปลๆ ไปแล้วอาจจะเลิกกลางทาง แต่คิดว่าจะลองดูซักตั้งหนึ่ง ใครสนใจก็ไปอ่าน ตอนแรกของ Fermat’s Last Theorem ได้ที่ไดอารี่งูๆ ปลาๆ ของเรานะ