Six Sigma
วันก่อนเก๋เล่าเรื่องที่โดนบังคับให้เข้า Training เกี่ยวกับ Six Sigma เราก็เลยนึกได้ว่าเราอยากจะเขียนเรื่อง Training ของที่ทำงานเราเหมือนกัน

ที่ทำงานเราก็มีโปรแกรม Six Sigma นี่เหมือนกัน เป็นโปรแกรมที่เท่าไหร่แล้วก็ไม่รู้ในการที่บริษัทพยายามจะทำปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงาน การที่บริษัทเราเอา Six Sigma มาใช้ (เราว่าเอาเองว่า) เพราะเดินตามก้น GE GE ว่าไงก็ว่าตามกัน ที่บอกว่าอย่างนี้ไม่ได้เกินเลย ก่อนหน้านี้บริษัทเราเขาพยายามจะหาวิธีทำให้การประชุม Teleconference สามารถดูเอกสารในคอมพิวเตอร์ร่วมกันได้ ก็มีโปรแกรมที่อาศัยอินเตอร์เน็ต (หรืออินทราเน็ต) ที่ใช้ได้ดีพอสมควร แต่บริษัทเราตัดสินใจซื้ออุปกรณ์ชื่อ SmartBoard ซึ่งเขาโฆษณาว่า ทำให้เราสามารถฉายภาพจากจอคอมพิวเตอร์ขึ้นไปที่ SmartBoard แล้วก็สามารถเขียนข้อความต่างๆ บนบอร์ดซึ่งมันจะไปปรากฏทั้งบนคอมพิวเตอร์และบน SmartBoard ของอีกออฟฟิศหนึ่งได้

เราฟังแล้วก็ไม่ได้รู้สึกว่าจะดีเลิศซักเท่าไหร่ เพราะถ้าเราจะติดต่อกับคนอื่น แล้วเขาไม่มี SmartBoard ก็ไม่เห็นว่าจะทำอะไรได้ต่างไปจากโปรแกรมประเภท Teleconference/Web Conference ที่มีใช้กันอยู่ทั่วไปตอนนี้เลย ก็เลยถามว่าใครเป็นคนเสนอไอเดียนี้ และในบรรดาคนที่บริษัทเราติดต่อด้วย ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าหรือ Vendor ต่างๆ มีใครมี SmartBoard ใช้แล้วบ้าง ปรากฏว่า GE เป็นคนแนะนำ และมีแต่ GE ที่ใช้ไอ้บอร์ดซื่อบื้ออันนี้ ถ้าไม่ใช่ว่าบริษัทเรายอมให้ GE ชี้นำจนเกินขนาด ก็ต้องสงสัยแล้วหละว่ามีใครบางคนที่บริษัทเราเป็นญาติกับคนขาย SmartBoard

จบเรื่อง SmartBoard กลับมาเรื่อง Six Sigma ต่อ... คนจาก Kansas ที่มาบรรยายเรื่อง Six Sigma เขาบอกว่า GE เป็นคนคิดระบบนี้ขึ้นมาใช้เป็นคนแรก และทำได้ดีตอนหลังก็เลยจัดเป็นโปรแกรมอบรมให้กับบริษัทอื่นๆ ที่สนใจ (และเก็บตังค์ค่าอบรม) เขาว่าบริษัทเรามีสายสัมพันธ์ที่ดีกับ GE ก็เลยได้ส่งพนักงานไปอบรมเป็น Green Belt (ระดับที่สามารถสอนคนอื่นๆ ต่อได้) ฟรีๆ

ที่เรียกว่า Six Sigma เขาเอามาจากวิชาสถิติ Sigma ก็คือ Standard Deviation หรือ ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ซึ่งคิดจาก Normal Distribution (ถ้ายังพอจะรำลึกอดีตกันได้บ้างมันคือกราฟระฆังคว่ำ) การที่กราฟระฆังคว่ำมีค่า 6 Sigma หมายถึงว่าค่าเฉลี่ยของประชากร (Population) เข้าใกล้กับค่ามาตรฐานมากๆ (ถ้าจำไม่ผิดคือ 99.95%) นั่นคือ เขาต้องการให้การทำงานในบริษัทมีคุณภาพสม่ำเสมอ เช่น ให้โดยเฉลี่ยทุกคนทำงานชิ้น ก. เสร็จในเวลาสิบห้านาที อาจจะมีบางคนที่ทำงานได้ภายในสิบนาที บางคนทำเสร็จสิบเจ็ดนาที บางคนยี่สิบนาที แต่จุดมุ่งหมายคือ 99.95% เสร็จในสิบห้านาที นี่คือหลักการของ Six Sigma ในการควบคุมคุณภาพและประสิทธิภาพ ความจริงค่า Six Sigma นี่มันเวอร์เกินไป คงทำกันไม่ค่อยได้ แต่ฝรั่งเขาเป็นพวกที่มีความทะเยอทะยานนะ ก็เลยตั้งเป้าให้มันยากๆ เข้าไว้

หลังจากที่เขาบรรยายเรื่อง Sig Sixma ไปเมื่อหลายเดือนก่อน ก็ไม่มีอะไรคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้อีก ไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรมเกิดขึ้น แต่ก่อนหน้านี้บริษัทเราเขาก็มีโปรแกรมที่เรียกว่า High Performance Team หรือ HPT คือเขาตั้งคนขึ้นมากลุ่มหนึ่งมาศึกษาขั้นตอนการทำงานของโปรเจ็คต์เก่าๆ เพื่อดูว่า แต่ละโปรเจ็คต์ทำงานยังไง ใครทำดี ใครทำพลาด เขาพบว่าปัญหาหลักคือ การทำงานไม่มีมาตรฐาน (ไม่ใช่ “ไม่ได้มาตรฐาน” นะ อ่าน/ฟังให้ดี) คือ งานแบบเดียวกันบางโปรเจ็คต์ทำขั้นตอน 1-2-3 บางโปรเจ็คต์ทำ 1-2-3-4-5 บางโปรเจ็คต์ทำแค่ 1-3-5 แต่ก็ได้ผลงานคล้ายๆ กัน เขาก็เลยให้ HPT กำหนดขั้นตอนที่เป็นมาตรฐานสำหรับการทำงานแต่ละอย่าง เพื่อที่จะได้ควบคุม Schedule, Budget และ Quality ได้ดีขึ้น

เราว่าไอเดียของเขามันก็ดีนะ การมีแนวทางที่ชัดเจนในการทำงานแต่ละอย่างทำให้เราทำงานได้ง่ายขึ้น และไม่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูกเวลาทำงานที่เราไม่เคยทำมาก่อน แต่ประเด็นที่เขาเอามาพูดเน้นกลับไม่ใช่เรื่องนี้ แต่เป็นเรื่องของ การพัฒนาประสิทธิภาพเพื่อให้เราทำได้ดีกว่าคนอื่น เพื่อให้เราสามารถแข่งขันกับบริษัทอื่นได้ เพื่อให้ทำกำไรได้มากขึ้น คือ ความคิดแบบนี้ไม่เคยอยู่ในสมองเรามาก่อนเลย ทุกครั้งที่เราทำงาน เราก็คิดว่าทำเต็มที่ ไม่เคยออมแรง อยากจะทำงานให้ถูกทุกครั้ง ไม่ใช่เพราะอยากจะดีกว่าคนอื่น อยากจะแข่งขันกับคนอื่นได้ แต่เพราะเราไม่อยากทำผิด เพราะฉะนั้นเวลาเราเข้าไปฟังเขาบอกว่า เราต้องเพิ่มประสิทธิภาพ เรารู้สึกว่าเขาขอในสิ่งที่เราให้ไม่ได้ เพราะเราทำเต็มที่ไปแล้วตั้งแต่แรก ทำ 100% ไปแล้วตั้งแต่แรก จะให้ทำ 110% เหรอ เราไม่ทำให้หรอกนะ (โอเค... อาจจะไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะต้องหักเวลาที่เราไปอ่านเว็บบอร์ด ไดอารี่ต่างๆ ออกไปด้วยส่วนหนึ่ง)

เราอ่านที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์เขาเขียนเรื่องการทำธุรกิจในเมืองไทย ที่ว่าไมเคิล พอร์ตเตอร์มาวิเคราะห์เศรษฐกิจไทย แล้วบอกว่าบริษัทต่างๆ ยังสอบไม่ผ่าน ยังต้องปรับปรุง เพราะได้ผลกำไรได้เต็มที่ ยังมีประสิทธิภาพไม่เต็มที่ อาจารย์นิธิบอกว่า มันแล้วแต่มุมมอง ถ้าเราตีราคาความประสบสำเร็จของธุรกิจที่ผลกำไรอย่างเดียว ก็ใช่ที่ไทยยังพัฒนาไม่ถึงไหน แต่อย่างอื่นๆ มีผลด้วยไหม ธุรกิจที่เกื้อหนุนต่อสังคมมากกว่าจะนับว่าเป็นความสำเร็จด้วยไหม บริษัทที่มีกำไรไม่มากแต่สร้างความมั่นคงในชีวิตและมีสวัสดิการที่ดีให้กับพนักงานนับว่าประสบความสำเร็จด้วยไหม เรื่องอื่นๆ อีกมากที่ไม่ได้คิดออกมาเป็นกำไรขาดทุน

เราฟังแล้วก็รู้สึกว่ามันทำให้เรายิ่งรู้สึกแปลกแยกมากยิ่งขึ้น เราไม่อยากเป็น High Performance Team ไม่อยากเป็น Six Sigma อยากแค่ทำงานของเราไปแต่ละวันๆ เท่านั้นเอง