Cost of Living
ไม่น่าเชื่อว่าแค่ในเมืองเมืองเดียวอย่างกรุงเทพฯ ค่าครองชีพก็ยังต่างกันตามย่านต่างๆ ความจริงก็เป็นที่รู้กันว่า ของซื้อของขายย่านในเมืองอย่าง สีลม สาธร ก็คงจะแพงกว่าย่าน “บ้านนอก” อย่างแถวโรงเรียนของปุย แต่เพิ่งจะหลัดๆ นี้เองที่เราได้ประสบการณ์อย่างเป็นรูปธรรม

เมื่อวานเราไปทำฟันที่คลีนิกในห้างแถวบ้าน เขาคิดค่าขูดหินปูน 600 บาท ค่าอุดฟันเริ่มตั้งแต่ 400 ไปจนถึง 1,200 บาท เราเพิ่งไปขูดหินปูนเมื่อประมาณหกเดือนที่แล้วที่คลีนิกแถวออฟฟิศ แค่ 500 บาทเอง และค่าอุดฟันก็แค่ 400-800 บาท ไม่ใช่ว่าจะเทียบแค่ค่าทำฟันนะ ค่าอื่นๆ ก็ต่างกัน อย่างค่าดูหนัง แถวบ้านเราราคาถูกสุด 120 บาท แถวที่ทำงาน (โรงในเครือเดียวกัน) ถูกสุด 100 บาท

ที่เราเพิ่งมาสังเกตได้อีกอันหนึ่งเมื่อวันก่อน ก็คือร้านซุปเปอร์มาร์เก็ตแบบซุปเปอร์สโตร์นี่ เขาก็ปรับกลยุทธ์ตามค่าครองชีพในแต่ละย่านเหมือนกัน คือ เขามีโปรโมชั่น ซื้อครบเท่านั้นเท่านี้จะแถมคูปองแทนเงินสดให้มาซื้อของคราวหน้า แถวที่ทำงานเรา เขาติดป้ายว่า ซื้อครบ 200 บาท ได้คูปอง 5 บาท แต่พอไปร้านเดียวกันนี้ แถวบ้านเรา เขาติดว่า ซื้อครบ 400 บาท ได้คูปอง 5 บาท เราเคยได้ยินคนบอกว่าร้านซุปเปอร์สโตร์พวกนี้ เขาตั้งราคาของไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับย่าน ย่านในเมืองๆ ก็จะตั้งราคาแพงหน่อย ย่านที่อยู่ไกลๆ ออกไป ก็ตั้งราคาถูกหน่อย (แต่แน่นอน ราคาที่เขาตั้งก็ต้องมีกำไรอยู่แล้ว) เราไม่ค่อยได้สนใจมาก เพราะไม่ใช่คนที่ยอมขับรถวน หรือแวะห้างโน้นห้างนี้เพื่อการประหยัดห้าบาทสิบบาท แต่พอเห็นแบบนี้ก็ชักเชื่อว่าจริง

แต่จะว่าไปอีกประเด็นหนึ่งที่เขาตั้งราคาของไม่เท่ากัน หรือจัดโปรโมชั่นไม่เหมือนกัน อาจจะมีปัจจัยอื่น ร้านซุปเปอร์สโตร์สาขาใกล้ที่ทำงานเรา เขามีคู่แข่งอีกยี่ห้อหนึ่งอยู่ถัดประมาณ 5 กม. เขาก็เลยต้องกำหนดแคมเปญให้มันดึงดูดใจ คนจะได้ไม่ไหลไปหาคู่แข่ง อันนี้เรียกว่า “Think globally, act locally” ก็คงได้นะ คือนโยบายโดยรวมต้องการจะสร้างยอดขาย ดึงลูกค้า แต่นโยบายย่อยในแต่ละเขตก็ยังแตกต่างกันได้

กลยุทธ์ของร้านซุปเปอร์สโตร์ก็เลยทำให้ค่าครองชีพมีความแตกต่างกันไปด้วย ต่อไปนี้เวลาเราจะซื้อข้าวซื้อของอะไร เห็นทีจะต้องซื้อแถวที่ทำงานดีกว่า เพราะถึงเราจะอยู่ย่านคนรวยแต่เราก็ชอบของถูกอ่ะนะ