Headache
เราคิดว่าต่อไปจะไม่ดูรายการพูดคุยของพิธีกรผู้ชายที่มีรายการตอนดึกๆ อีกต่อไปแล้ว เพราะทำให้เราปวดหัวกับชีวิตของคนสมัยนี้มากๆ เมื่อคราวก่อนโน้น เขามาพูดกันเรื่องว่าควรจะทำบ่อนให้ถูกกฎหมายหรือเปล่า อีกครั้งหนึ่งก็เป็นเรื่องควรยอมให้ติดตั้งตู้ขายถุงยางอนามัยในห้องน้ำในสถาบันการอุดมศึกษาหรือเปล่า แล้วก็มีเรื่องควรยอมให้มีการขายหวยบนดินหรือเปล่า เมื่อคืนวานนี้เขาคุยกันเรื่องค่านิยม “กิ๊ก” ในหมู่วัยรุ่น

เราฟังความคิดเห็นของฝ่ายต่างๆ แล้วท้อแท้ เอาสดๆ ร้อนๆ ก่อนก็ เรื่องกิ๊ก (ซึ่งเขาให้นิยามไว้ว่า “คนที่เป็นมากกว่าเพื่อน แต่ไม่ใช่ แฟน” – แต่อย่างที่หิ่งห้อยเคยให้นิยามไว้ สำหรับคนรุ่นเก่าๆ เขาเรียกว่า “ชู้”) มีนักศึกษากลุ่มหนึ่งทำรายงานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิชาเรียนออกมาว่าเด็กวัยรุ่นสมัยนี้เริ่มปฏิบัติและยอมรับการมีคนที่รู้ใจกันมากกว่าเป็นเพื่อนมากกว่า 1 คนเป็นเรื่องธรรมดา มีแฟนแล้วก็ยังมีกิ๊กได้อีกหลายๆ คน หรือเราเป็นแฟนกับคนหนึ่ง เราก็ยังไปเป็น กิ๊ก กับอีกคนหนึ่งได้ ฯลฯ ฯลฯ

พิธีกรถามทั้งความเห็นของเด็กกลุ่มที่เป็นทำรายงาน และมีคุยสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับวัยรุ่นที่มีกิ๊ก คนบางคนอาจจะรับไม่ได้กับพฤติกรรมที่คนวัยป้าอย่างเราเรียกว่า “หลายใจ” (หรือถ้าแรงๆ หน่อย ก็ “สำส่อน”) แต่เรากลับสะท้อนใจกับคำพูดที่ออกมาจากเด็กที่ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ที่เขาคิดว่าสิ่งที่เขาทำไม่เป็นปัญหา เขาไม่สนใจว่าใครจะคิดยังไง เพราะ “เขาทำในสิ่งที่เขาสบายใจ ทำแล้วเขามีความสุข” ที่โลกมันวุ่นวายขนาดนี้ก็เพราะคนเราต้องการจะทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการ โดยไม่คิดถึงคนอื่น ไม่ใช่เหรอ

เราคิดว่าพ่อแม่สมัยนี้เลี้ยงลูกให้สบายเกินไป ให้อิสระเกินไปโดยไม่มีเหตุผล เด็กสมัยนี้ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรมากไปกว่า “พยายามตั้งใจเรียนเต็มที่” ก็พอแล้ว Commitment ของเด็กสมัยนี้ที่ต้องปฏิบัติต่อพ่อแม่แทบจะไม่มีอีกแล้ว พ่อแม่สมัยใหม่ต้องไม่คาดหวังอะไรจากลูกๆ แค่ลูกๆ ตั้งใจเรียน เรียนจบมีงานทำ อยู่ได้อย่างมีความสุขก็พอแล้ว ไอ้จะหวังพึ่งพาลูกจะให้เลี้ยงดูยามแก่เป็นเรื่องฝันไป ส่วน Commitment ของพ่อแม่สมัยนี้ต่อลูกคือทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อลูก หาทุกสิ่งทุกอย่างที่เพื่อนๆ ของลูกมีมาประเคนให้ เพื่อที่ลูกจะได้ไม่มีปมด้อย ไม่น้อยหน้าเพื่อนลูก (หรือเพื่อที่พ่อแม่จะได้ไม่มีปมด้วย ไม่น้อยหน้าเพื่อนๆ ของพ่อแม่ – แล้วแต่ว่าจะเป็นกรณีไหน แต่ผลลัพธ์ออกมาคล้ายกัน)

ในเมื่อเด็กๆ ไม่มีต้องความรับผิดชอบต่อพ่อแม่ต่อครอบครัวแล้ว จะหวังให้มีความรับผิดชอบอะไรต่อสังคม ต่อประเทศชาติกันเล่า เวลาที่มีเหลือเยอะแยะ แทนที่จะเอาไปคิดเรื่องที่สร้างสรรค์ เรื่องที่จะพัฒนาความรู้ความสามารถ ก็มัวไปคิดแคบๆ อยู่แค่ความต้องการของตัวเองและความสุขสบายของตัวเอง โดยไม่สนใจสังคมรอบข้าง แถมซ้ำร้ายถูกล่อลวงให้มัวเมาโดยวัฒนธรรมบริโภคนิยมและทุนนิยม การเห่อเหิมตามแฟชั่นโดยไม่คิดถึงความถูกต้องเหมาะสม

ฟังไปฟังมา ดูเหมือนเราจะด่าแต่ว่าเด็กสมัยนี้มันไม่ได้เรื่อง แต่ที่จริงแล้วผู้ใหญ่ต่างหากที่ไม่ได้เรื่องเพราะเด็กคือผ้าขาว เอาสีอะไรป้ายเข้าไปเขาก็เป็นสีนั้น ผู้ใหญ่เลี้ยงดูเขาอย่างไร หรือปล่อยปละละเลยให้เขาอยู่ในสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมอย่างไร เขาก็โตขึ้นมาเป็นคนแบบนั้น ผู้ใหญ่ที่คิดแคบๆ ก็มีอยู่เยอะไป อย่างตอนที่รายการที่เราว่าจะไม่ดูนี้เขาคุยเรื่องเครื่องขายถุงยางในสถาบันอุดมศึกษา มีผู้ปกครองคนหนึ่งบอกว่า “ถ้าสถาบันไหนยอมให้ติดตั้งเครื่องที่ว่านี้ เขาจะไม่ยอมให้ลูกเข้าไปเรียนในสถาบันนั้น” เราฟังแล้วก็งงว่ามันเกี่ยวอะไรกัน เขาคิดว่าลูกของเขามีความรู้ผิดรู้ถูกน้อย ขนาดแค่เห็นเครื่องขายถุงยางอนามัยแล้วอดใจไม่ได้ที่จะต้องหยอดเหรียญลองใช้บริการดูหรือไร

คุณมีชัย วีระไวทยะ (สงสัยเขียนนามสกุลผิดแน่เลย) เป็นคนที่มาร่วมพูดในวันนั้น (ซึ่งมุมมองของคุณมีชัย ไม่ได้สนับสนุนหรือต่อต้านการติดตั้งเครื่องขายในมหาวิทยาลัย แต่มาในมุมมองที่ว่า ต้องการให้มีการให้ความรู้และให้เครื่องมือป้องกัน (ถ้าจำเป็น) ให้มากและกว้างขวางที่สุด) บอกไว้อันหนึ่งซึ่งเราไม่รู้ว่าจะมีคนสนใจฟังแค่ไหน เขาว่า “การมีเครื่องมือ ไม่ได้เป็นการกำหนดพฤติกรรม” คุณมีเครื่องขายถุงยางไม่ใช่ว่าคุณจะต้องมีเพศสัมพันธ์ แต่การมีเครื่องขาย เพื่อที่ “ถ้า” คุณจะมีเพศสัมพันธ์ คุณมีเครื่องมือป้องกัน ต่างหาก เรื่องที่คนชอบเอามาอ้างอีกอันหนึ่งก็คือ สถาบันการศึกษาเป็นสถาบันที่มีเกียรติ เป็นที่เคารพเชิดหน้าชูตา จะเอาเรื่องแบบนี้มาแปดเปื้อนไม่ได้ อันนี้ก็น่าเบื่อมากๆ ในความคิดเรา เป็นความคิดแบบมือถือสากปากถือศีลอย่างยิ่ง สถาบันเป็นสิ่งที่อยู่เฉยๆ คนที่อยู่ในสถาบันต่างหากที่ทำให้มันมีเกียรติหรือมีศักดิ์ศรีขึ้นมา ถ้าคนในสถาบันนั้นทำตัวเป็นคนดีรักษาเกียรติรักษาศักดิ์ศรีของตัวเอง ต่อให้มีตู้ขายถุงยางต่อให้มีการตั้งแผงขายหวยบนดิน สถาบันก็ไม่มีทางเสื่อมไปได้ ในทางกลับกันบรรดาครูบาอาจารย์ห้ามเด็ดขาดไม่ให้มีอบายมุขสิ่งล่อใจต่างๆ ในรั้วสถาบัน แต่เด็กนักเรียนเดินพ้นจากรั้วออกมาก็ประพฤติตัวไม่เหมาะสม จะบอกว่ามีเกียรติมีศักดิ์ศรีกันอยู่หรือเปล่า

เราคิดว่าสถาบันครอบครัวสถาบันสังคมของเราล้มเหลวถึงขนาดที่คนในสังคมไม่สามารถสร้างค่านิยมที่ดีและถูกต้องให้กับลูกได้ ทำให้ต้องหวังพึ่งการแก้ปัญหาปลายเหตุที่ไม่ค่อยได้ผลอะไรมาก เราอ่านจากที่ไหนซักแห่ง เขาบอกว่าการเลี้ยงดูเด็กอย่างมีเหตุผลและเป็นประชาธิปไตยจะทำให้เด็กโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพและมีความคิด ในขณะเดียวกันการเลี้ยงดูเด็กแบบโบราณคือเข้มงวดกวดขันเด็ก (บางคนอาจเรียกว่าเผด็จการ) สั่งโน่นสั่งนี่บังคับให้ทำตาม ก็ได้ผลดีเหมือนกัน (ประมาณ 80%) แต่การเลี้ยงดูแบบที่เลวร้ายที่สุดคือแบบกลับไปกลับมา บางทีก็เข้มงวดเกินไปบางทีก็ตามใจเกินไป เด็กสับสนและไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี (เราคิดว่าการมีประชาธิปไตยในการเลี้ยงดูเด็ก ไม่ใช่การตามใจและปล่อยให้เด็กคิดเอง หลายอย่างเด็กๆ ก็คิดเองไม่ได้และต้องให้ผู้ใหญ่บังคับ ผู้ใหญ่สมัยนี้บางทีจะบังคับให้เด็กทำในสิ่งที่ถูกต้องยังเกรงใจ กลัวทำร้ายจิตใจเด็ก กลัวไม่เป็นประชาธิปไตย)

เมื่อก่อนเคยคิดว่าแย้ง เวลาที่เห็นว่าเขาจะออกกฏเข้มข้นมาบังคับ (เช่น ไม่ให้โฆษณาเครื่องดื่มอัลกอฮอล์ระหว่างหกโมงถึงสี่ทุ่ม – ให้สถานบริการตอนเที่ยงคืน ฯลฯ) หรือออกไปในแนวเห็นด้วยเวลาเขาจะลดหย่อนกฎกับสิ่งที่มีอยู่จริงแต่คนไม่ยอมรับ (การรับพนันบอลหรือเปิดบ่อนถูกกฎหมาย) เพราะคิดว่าคนเราน่าจะมีความคิดรู้ผิดชอบชั่วดีเองได้ และประเทศเราเป็นประชาธิปไตยก็น่าจะมีสิทธิเลือกที่จะคิดเลือกที่จะทำเองได้ แต่ตอนนี้ชักเริ่มสังเกตว่ามันไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่กลายเป็นเดี๋ยวตึงเดี๋ยวหย่อน (มีนโยบายจัดระเบียบสังคม แต่พอวันวาเลนไทน์ หรือวันคริสต์มาสวันปีใหม่ ยอมให้ฉลองยันเช้า) ถ้าคนในสังคมยังไม่พร้อมแบบนี้ กลับไปเป็นเผด็จการจะดีกว่าหรือเปล่า