โหมโรง – The Overture
อาทิตย์นี้เราไม่ได้กลับบ้านที่แม่กลอง เพราะแม่จะไปเที่ยวเมืองกาญจน์กับเตี่ย ความจริงแม่ก็คงอยากให้เราไปด้วยเหมือนกัน แต่เราต้องไปงานรับปริญญาของนวรัตน์ (หลานเราซึ่งเกิดหลังเรา ๑๐ ปีพอดิบพอดี) วันอาทิตย์นี้ แม่บอกว่ากลับมาก็แม่ก็ไม่อยู่ แถมเย็นวันเสาร์ก็ต้องกลับกรุงเทพฯแล้ว เปลืองแรง (ขับรถ) เปลืองน้ำมันเปล่าๆ อยู่กรุงเทพฯ เก็บกวาดบ้านหรือไม่ก็ไปดูหนังดีกว่า

เราก็เลือกทำตามที่แม่แนะนำ คือ ไปดูหนังเรื่อง “โหมโรง” ความจริงเราไม่ได้ตั้งใจไปดูหนังเรื่องนี้“มาก” คือ ความที่หนังเพิ่งเริ่มฉายอาทิตย์นี้อ่ะนะ ถ้าเลือกได้เราอยากดูหนังที่เข้ามาแล้วพักหนึ่งมากกว่า แต่พอดีช่วงนี้ไม่ค่อยมีหนังให้เลือกมากนัก หนังเรื่องล่าสุดที่ค่อนข้างจะตั้งใจไปดู คือ Mona Lisa Smile ก็ไม่ได้ดีอย่างที่คาดหวัง ไม่ใช่หนังห่วย แต่เราหวังว่าเขาจะทำออกมาได้ดีกว่านี้ เต็มที่กว่านี้ หนังรอดตัวไปได้เพราะน้องจู (เลีย โรเบิร์ต) และเราก็ชอบน้องจูอีกคนหนึ่งด้วย คือ จูเลีย สไตล์ ก็เลยดูได้ไม่เสียดายสตางค์

เราก็ลังเลอยู่ว่าจะไปดูหนังเรื่องอะไรดี ระหว่าง “มหัศจรรย์พันธุ์รัก” (จำชื่อผิดแน่เลย) หนังที่น้องเคนธีรเดช วงศ์พัวพันเล่น กับ “บอดี้การ์ดหน้าเหลี่ยม” ของหม่ำ จ๊กมก เพราะเราเห็นคอลัมน์ในมติชนสุดสัปดาห์ เขาว่าพอดูได้พอจะลบคำสบประมาทที่ว่าเป็นแค่ตลกที่ริจะมาทำหนัง (อย่างที่โน้ต เชิญยิ้มจากหนังเรื่อง “คนปีมะ” กับตลกอีกคนหนึ่งที่เราจำไม่ได้ โดนว่าไปเพราะทำหนังออกมาไม่สนุก โดนด่าเละ)

แต่ความที่เราไม่ไว้ใจหนังไทยซักเท่าไหร่ ก็เลยไปหาข้อมูลจากพันธ์ทิพย์ ปรากฏว่าหนังน้องเคนโดนด่าเละ (ให้ไฮโซมากำกับหนังก็เลวร้ายแบบนี้แหละ ฯลฯ) ส่วนบอดี้การ์ดก็ห้าสิบห้าสิบ คือเขาบอกว่าเข้าไปดูเอาฮาๆ ก็สนุกดี ไม่ต้องคิดมาก เราไม่อยู่ในอารมณ์ฮาเท่าไหร่ และพอดีได้ไปเห็นกระทู้ชมกระทู้เชียร์ “โหมโรง” หลายกระทู้ อ่านๆ ดูเขาบอกว่าหนังดี แต่ไม่ค่อยมีคนดู แถมบอกว่าให้ช่วยลุ้นให้ผ่าน “สามวันอันตราย” ให้ได้

คือคงเคยได้ยินกันมาบ้างใช่ไหม ว่าหนังไทยเนี่ยโรงหนังค่ายใหญ่ๆ เขาวัดกันแค่ ๓ วันแรกที่เปิดฉาย (หรือบางทีอาจจะรวมถึงหนังฝรั่งฟอร์มเล็กๆ ด้วย) ถ้าเปิดตัวดี มีคนดูเยอะ วันต่อๆ ไปเขาก็จะคงรอบฉายเอาไว้ (หรือเพิ่มโรง ถ้าหนังฮิต) แต่ถ้า ๓ วันแรกรายได้ไม่ดี ก็เตรียมตัวเจ๊งได้ เพราะเขาจะลดรอบลดโรงฉาย ไอ้มนุษย์บ้าหนังแต่ไม่ชอบดูหนังวันแรกๆ อย่างเราก็ซวยซีครับทั่น คือนอกจากจะไม่ได้ช่วยพยุงหนังไทยที่ดีๆ เอาไว้ แถมยังสามารถจะพลาดอดดูหนังดีๆ ไปด้วย

พอเราอ่านกระทู้ในพันธ์ทิพย์จบ ก็รู้เลยว่าวันนี้ต้องไปดูเรื่องอะไร (มีภารกิจต้องไปช่วยอุดหนุนหนังไทยดีๆ) ความจริงเราจะไม่เชื่อไม่เชียร์หนังเรื่องนี้ก็ได้ แต่เป็นเพราะชื่อของ “อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์” ทำให้เราตัดสินใจเช่นนั้น

“อิทธิสุนทร” นี่เป็นอดีต “ซูโม่สำอางค์” ที่เคยทำหนังมาแล้วเรื่องหนึ่ง เราคิดว่าเราได้ดูหนังของเขา แต่ก็ไม่แน่ใจ เพราะเราคิดว่าเขาทำหนังเรื่อง “ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด” (ที่มีพี่ดู๋ สัญญา คุณากรเป็นพระเอก เล่นเป็นคนที่ได้หนังสือพิมพ์วันรุ่งขึ้นมา เลยไปช่วยป้องกันเหตุร้ายๆ ที่เกิดขึ้นตามพาดหัวข่าว พล็อตเรื่องเดียวกับซีรี่ส์ฝรั่ง Early Editions เลยนะ) แต่เราจำได้เลาๆ ว่าดูสนุก (มีอังคณา ทิมดีเล่นด้วยหรือเปล่า) แต่พอเราไปคุยกับเพื่อน เขาบอกว่าเรื่องที่เราเล่ามา คือเรื่อง “ท้าฟ้าลิขิต” ตะหาก ... อ้าว ตกลงยังไงกันแน่!!

อย่างไรก็ตามเราก็ “คิดว่า” เราจำได้ว่า “อิทธิสุนทร” เนี่ยทำหนังใช้ได้ เราจะไปดูแหละ ปรากฏว่าเขาก็ทำหนังใช้ได้ ทำดีเลยแหละ เราดูไปแล้วก็ไม่อยากให้จบ (แล้วก็ไม่เสียดายที่ต้องจ่ายค่าตั๋วแพงกว่าปกติด้วย เพราะบัตรลดใช้กับหนังที่เพิ่งเข้าฉายอาทิตย์แรกไม่ได้ – ฮา)

เขาว่าหนังได้รับแรงบันดาลใจจากชีวิตของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ เป็นเรื่องของมือระนาดเอกชื่อ “ศร” (หรือ “ศร ศิลปบรรเลง” ชื่อเดิมของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ นั่นเอง) หนังเล่าชีวิตของศรกลับไปกลับมาระหว่างตอนหนุ่มกับตอนแก่ ตอนหนุ่มๆ ที่เริ่มเล่นระนาดเอกในวงปี่พาทย์ของพ่อที่เป็นครูดนตรี ไล่มาจนได้มาอยู่วงปี่พาทย์ในวัง ตอนอายุมากแล้วเป็นครูสอนดนตรีไทยในสมัยสงครามโลกในยุคที่อะไรๆ ที่เป็น “อารยะ” ต้องทำตามตะวันตก

ไม่รู้ว่าคนที่ไปดู โหมโรง เขาจะรู้ไหมว่าระนาดเอกนี้เป็น “หัวใจ” ของวงดนตรีไทย ประมาณว่าคนที่เล่นดนตรีไทยนี้ส่วนใหญ่เขาจะเล่นได้ทุกเครื่องดนตรีแต่ก็จะเก่งกันเป็นอย่างๆ ไป แต่ยังไงๆ ดาวเด่นก็คือ ระนาดเอกนี่แหละ เราฟังระนาดที่เขาเล่นในหนังแล้วสุดยอดจริงๆ (ถึงแม้จะตัดสินด้วยมาตรฐานด้วยหูถั่วๆ ของเราก็ตาม) น่าดีใจที่ยังมีคนเล่นดนตรีไทยเก่งๆ แบบนี้อยู่อีก อยากให้หนังเรื่องนี้ฮิตๆ เผื่อคนไทยจะได้มาฮิตดนตรีไทยมากๆ ของดีๆ แบบนี้จะได้ไม่ตายไปกับวันเวลา

เราชอบหลายๆ ตอนในหนัง เช่น ศรต้องดวลระนาดกับ ขุนอิน คนที่ได้ชื่อว่าเป็นมือระนาดเอกที่สุดยอดตอนนั้น ศรเคยดวลระนาดแพ้ขุนอินมาแล้วครั้งหนึ่ง จึงรู้สึกหวาดกลัวฝังใจ หมดกระจิตกระใจจะแข่ง แต่ครูของศรบอกว่า “ถึงเอ็งจะแพ้ขุนอินคราวนี้ ก็ใช่ว่าจะแพ้เขาตลอดไป หรือถึงเอ็งจะชนะ ก็ใช่ว่าชัยชนะมันจะอยู่กับเอ็งตลอดไป” มันเป็นสัจธรรมเลยนะ เราเสียดายนิดหนึ่งตรงที่เขาไม่ได้เน้นอารมณ์ตรงนี้ให้แรงนิดหนึ่ง

ตอนสมัยที่ศรกลายเป็น “ท่านครู” แล้ว มีลูกศิษย์มาเรียนดนตรีไทยเต็มบ้าน แต่ลูกชายขนซื้อเปียโนเข้ามาในบ้าน “ท่านครู” ทำท่าเสียใจที่ลูกชายไปหลงใหลดนตรีตะวันตก เรากลัวว่าเขาจะทำให้ท่านครูของเราโมโหลูกชาย แต่กลายเป็นว่าท่านครูให้ลูกชายเล่นเปียโน แล้วท่านครูตีระนาดไปพร้อมกันได้อย่างกลมกลืนและลงตัว ต้องแบบนี้สิที่เราชอบมากๆ คนที่มีดนตรีในหัวใจควรมีจิตใจดีงาม ไม่มีอคติ และไม่ดูถูกเหยียดหยามคนอื่น จะดนตรีไทยหรือฝรั่งก็มีคุณค่า มีความสร้างสรรค์และจรรโลงใจได้ ไม่ใช่ว่าใครเหนือกว่าใคร แต่เป็นความงดงามที่ “แตกต่าง” กันต่างหาก

เราดูหนังเรื่องนี้แล้วนึกถึงวิชาดนตรีไทยที่เรียนสมัยมัธยม ครูให้เราเลือกเครื่องดนตรีคนละอย่าง มีระนาดเอก ระนาดทุ้ม ซออู้ ซอด้วง ขิม จะเข้ ฆ้องวงเล็ก ฆ้องวงใหญ่ ฉิ่ง ถ้าจำไม่ผิดเราเรียนขิมกับระนาดทุ้ม ความจริงเราอยากเรียนระนาดเอกกับเหมือนกัน แต่ระนาดเอกคนเลือกเยอะ (มันเท่ไง) ส่วนซอมันยาก คือ ถ้าคนสีไม่เป็นมันจะอี๊ดอ๊าดน่ารำคาญมากๆ ความจริงมีคนบอกว่า ฉิ่ง ก็ง่าย แต่เราเป็นคนไม่แม่นจังหวะเอามากๆ (ขนาดว่าร้องเพลงคลอไปตามเทป ก็ยังคร่อมจังหวะได้อ่ะนะ) ก็เลยคิดว่าไม่เวิร์กแน่ ขิมกับระนาดทุ้มนี่มันไม่ยาก คือตีไปยังไงก็เป็นเพลงแน่ (ถ้าจำโน้ตได้) แต่ตอนนี้เราลืมไปหมดแล้วทั้งสิ้นทั้งปวง (สรุปว่าถ้าอนาคตดนตรีไทยถูกฝากไว้ในมือเราก็คงวอดแน่ๆ)

หนังเรื่องนี้ทำให้เราได้รู้ศัพท์ใหม่ คือ คำว่า Overture ที่เขาเอามาใช้เป็นชื่อภาษาอังกฤษของหนัง (ตอนแรกที่เช็ครอบหนังคิดว่าเขาพิมพ์ผิดซะอีก) อ่านว่า โอเวอร์เช่อร์ แปลว่า เพลงโหมโรง ความจริงหนังไม่น่าจะชื่อโหมโรง ซักเท่าไหร่ เพราะเล่าเรื่องไปจนจบไม่ได้มีแค่โหมโรง แต่ถ้าจะตั้งชื่อว่า “ระนาดเอก” ก็จะไปซ้ำกับเรื่อง “ระนาดเอก” ที่เป็นละครที่ พี่ตั้ว ศรัญญู วงศ์กระจ่างเคยเล่นไว้

อีกอันที่เห็นจากหนังแล้วนึกได้คือ สมัยก่อนเวลาจะเริ่มเล่นลิเก เขาต้องมีการ “ออกแขก” ซึ่งก็คือให้คนแสดงแต่งตัวเป็นแขก มาร้องแนะนำคณะลิเกแนะนะเรื่องที่จะเล่น (จะว่าไปการออกแขกก็น่าจะจัดเป็น Overture ได้เหมือนกันนะ) เรารู้ว่ามีการออกแขก ถึงแม้จะเลือนๆ ไปบ้าง แต่เห็นปุ๊บก็จำได้ทันที่ แต่มีคำถามตามมา... สงสัยจังว่าทำไมถึงเป็น การออกแขก “แขก” มาเกี่ยวกับลิเกได้ยังไงกัน คนที่ออกแขกก็เป็นคนไทยแท้ๆ เลยนี่นา แค่แต่งหน้าแต่งตัวให้เหมือนแขกเท่านั้นเอง ทำไมต้องแขก ฮึ? ไม่ชอบใจ เอ้ย... ไม่เข้าใจเลย!!