ไม่ต้องขึ้นเงินเดือนให้ก็ได้...
วันก่อนบ่นเรื่องเงินเดือนของคนอื่นไป ปรากฏว่าผ่านไปสองสามวัน หัวหน้าใหญ่เรียกคนในแผนกเข้าไปคุยเป็นรายคน คงเห็นว่าถ้าไม่เรียกมาชี้แจงมันคงจับกลุ่มคุยวิพากย์วิจารณ์กันไม่เลิก งานการไม่ถึงไหนกันพอดี

เขาเรียกรุ่นน้องเราที่บอกว่าได้โปรโมทแต่ได้เงินเดือนขึ้นไม่ถึงสองพันไปคุยเป็นคนแรก ก็อธิบายให้ฟังว่า เงินเดือนน้องคนนี้เยอะกว่าคนที่มีประสบการณ์ระดับเดียวกันอยู่นิดหน่อย ที่ได้ขึ้นมาพันกว่าบาทครึ่งหนึ่งเป็นค่าโปรโมทอีกครึ่งเป็นค่าผลงานของปีที่ผ่านมา (Merit)

น้องคนนี้ก็ถามว่า ทำไมปีที่แล้วไม่ได้โปรโมท ทำงานก็ไม่เต็มปี ยังได้ขึ้นตั้งสองพันบาท เขาตอบว่า เกณฑ์ของแต่ละปีไม่เหมือนกัน จะเอาผลปีที่แล้วมาตัดสินปีนี้ไม่ได้ พอบอกแบบนี้น้องคนนี้ก็ไม่รู้จะถามอะไรต่อแล้ว เพราะทีแรกมันจะถามว่าปีหน้าจะเป็นแบบนี้อีกต่อไปหรือเปล่า ก็เป็นอันจบการสนทนาในเวลาไม่นาน

วันถัดมาเขาเรียกเราเข้าไปคุย บอกว่าที่ผ่านมาเขาตั้งใจจะคุยกับเราเรื่องประเมินผลปีที่แล้วแต่ก็ไม่ได้คุย เลยถือโอกาสที่เงินเดือนใหม่กับโบนัสออกคุยรวบยอดซะทีเดียว

ประเมินผลปีที่แล้วเราได้ M2 (ปานกลางทุกอย่าง ถ้าดีสุดคือ H1 ห่วยสุดคือ L3 แต่ในความเป็นจริง M2 จะเป็นเรทติ้งต่ำสุดที่คนทั่วไปจะได้รับ เพราะถ้าต่ำกว่านี้ หมายถึง ผลงานติดลบ) ปีก่อนหน้านั้นเราได้ H1 นายเราเขาคิดว่าเราอาจจะผิดหวังหรือเสียใจที่เรทติ้งตกต่ำลงถึงสองสเต็ป

เขาอธิบายว่ามันเป็นเรื่องปกติที่คนที่เพิ่งได้โปรโมทปีแรกจะได้เรทติ้งค่อนข้างต่ำ เพราะการทำงานในหน้าที่ความรับผิดชอบใหม่ๆ ก็ยากที่จะทำได้ดีเลิศในทันที ทุกคนที่ได้โปรโมทปีที่แล้วก็ได้เรทติ้งเท่าๆ กับเราเหมือนกัน

จริงๆ เราโอเคมากๆ กับเรทติ้งที่ได้ รู้สึกว่าเพราะเราก็ประเมินผลงานตัวเองปีที่ผ่านมาว่าได้ M2 นี่แหละ เพราะเราต้องทำงานที่เราไม่อยากทำ ผลมันก็ออกมาไม่ดี เรารู้อยู่แก่ใจ (แถมไม่ได้มีความตั้งใจว่าจะทำให้ดีด้วย อันนี้ที่จริงคะแนนพฤติกรรมต้องติดลบด้วยซ้ำ) ถ้าได้เรทติ้งออกมาเกิน M2 เราว่าคนประเมินคงบ้าไปแล้วแน่ๆ แต่เราก็ไม่ได้แสดงความเห็นอะไร เขาชี้แจงอะไรมาก็ฟัง

ต่อมาก็พูดเรื่องเงินเดือนกับโบนัส เขาก็ถามเราว่ามีปัญหาไม่พอใจอะไรหรือเปล่า เขาชิงอธิบายก่อนเลยว่า บริษัทก็เป็นแบบนี้แหละนะ จะขึ้นเงินเดือนก็ต้องดูผลโดยรวม จุดประสงค์ของการทำบริษัทคือการทำกำไร บลา... บลา... บลา...

เราไม่ได้บอกความจริงเขาไปว่าเงินเดือนขึ้นปีนี้เยอะกว่าที่เราคาดว่าจะได้ซะอีก (คงเป็นเพราะปีที่แล้วได้น้อยกว่าที่คิด ปีนี้เลยคิดว่ามันจะต้องน้อยด้วย) ขืนบอกไปเขาก็จะได้ใจนะสิ ยังไงเงินเดือนก็ไม่มีทางเยอะเกินไปอยู่แล้น...

เขาถามว่าเราไม่มีคำถามอะไรเลยเหรอ เพราะคุยอะไรมาเราก็พยักหน้าหงึกๆ ตลอด (ผิดปกติ) เราก็บอกว่าตัวเราไม่มีอะไร แต่สงสัยเรื่องการขึ้นเงินเดือนกับการโปรโมทของระดับเด็กๆ ว่าทำไมไม่มีการขึ้นเงินเดือนก้อนใหญ่ๆ ๑๐% หรือ ๒๐% อย่างสมัยก่อน แบบนี้ทำแทบตายเงินเดือนแทบไม่กระดิกเลย

เขาอธิบายว่าการจะปรับเงินเดือนให้พนักงาน มันไม่มีมาตรฐานตายตัว แต่เขาคิดว่าปัจจัยหลักคืออัตราเงินเดือนในตลาดการจ้างงาน อย่างเด็กที่เพิ่งทำงานได้ปีสองปี สิ่งสำคัญที่จะผลักดันให้เงินเดือนขึ้น (ทั้งการได้โปรโมทหรือปรับประจำปีธรรมดาก็ตาม) คือ อัตราเงินเดือนของเด็กจบใหม่ หลักๆ ก็คือ คนที่เป็นทำงานมาครบปีควรจะได้เงินเดือนเยอะกว่าเงินเดือนของเด็กจบใหม่

เขาบอกว่าสมัยก่อนที่มีการปรับเงินเดือนทีละเยอะๆ เพราะอัตราเงินเดือนของเด็กจบใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี ปีละหลายๆ เปอร์เซ็นต์

เช่น ปีแรกบริษัททั่วไปจ้างเด็กจบใหม่ ๑๐,๐๐๐ บาท ปีถัดไปเพิ่มเป็น ๑๐,๕๐๐ บาท (๕%) คนที่ทำงานมาครบปีจะต้องได้เงินเดือนขึ้น ๕% เป็นอย่างต่ำ บวกกับปัจจัยอื่น เช่น อัตราเงินเฟ้อ ผลประกอบการ ค่าประสบการณ์+ผลงานของตัวพนักงาน ฯลฯ ถ้าผลประกอบการดีและบริษัทใจดีก็อาจจะให้เงินเดือนประมาณพันห้าหรือสองพัน นั่นก็คือ ๑๐% หรือ ๑๕%

ยิ่งอัตราเงินเดือนในตลาดการจ้างงานเพิ่มขึ้นมากเท่าไหร่ บริษัทก็ยิ่งต้องขึ้นเงินเดือนให้พนักงานเป็นเปอร์เซ็นต์สูงขึ้นเท่านั้น เพื่อให้คนมีประสบการณ์เงินเดือนสูงกว่าคนจบใหม่ และก็เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้คนลาออกไปสมัครบริษัทอื่นไปด้วย

ในทางกลับกันช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมาอัตราเงินเดือนของวิศวกรจบใหม่คงที่มาตลอด (อัตราเงินเดือนของวิศวกรที่มีประสบการณ์ก็ค่อนข้างจะคงที่เหมือนกัน) เพราะฉะนั้นจึงไม่มีปัจจัยภายนอกมากำหนดว่าเงินเดือนต้องขึ้นอย่างต่ำเท่าไหร่ บริษัทก็จะขึ้นเงินเดือน based on อัตราเงินเฟ้อ (ประมาณ ๒-๓%) และผลประกอบการ ความที่บริษัทเราเขี้ยวลากดิน (อันนี้เราพูดเอง) สองสามปีที่ผ่านมาพวกเราจึงได้เงินเดือนเฉลี่ยแค่ ๕-๖% ไม่ได้ขึ้นตูมตามอย่างที่พนักงานอยากให้เป็น

อันนี้เป็นแง่มุมใหม่ที่ก่อนหน้านี้เราไม่เคยนึกถึง (เมื่อก่อนคิดว่าปัจจัยภายในมีผลกับการขึ้นเงินเืดือนมากกว่า) แต่พอได้ฟังแล้วก็รู้สึกว่ามีเหตุผล (แต่ไม่ได้หมายความว่าเห็นดีเห็นงามไปด้วย) ถึงแม้นายเราจะยกตัวอย่างเงินเดือนของเด็กจบใหม่ (เพราะเราระบุในคำถาม) แต่ความจริงพวกซีเนียร์ก็อยู่ในกฎเกณฑ์นี้ด้วยเหมือนกัน โดยรวมๆ บริษัทแค่ปรับเงินเดือนให้สูงกว่าบริษัทอื่นๆ ในธุรกิจเดียวกันนิดหน่อยก็พอแล้ว ให้เยอะเกินจำเป็นก็จะทำให้กำไรลดลงซะเปล่าๆ

เราถามหัวหน้าเราเล่นๆ (ตั้ังใจประชด) ว่า "อืมม์ แบบนี้ถ้าอัตราเงินเดือนของตลาดการจ้างงานทั่วไปลดลง บริษัทก็ไม่ต้องเพิ่มเงินเดือนให้พนักงานเลยงั้นสิ" ประมาณว่าบริษัทอยากจะกดขี่ข่มเหงพนักงานยังไงก็ได้สินะ

พอถามคำถามจบไปแล้วก็รู้สึกว่า "ผิดท่า" (อันนี้เป็นสำนวนจากนิยายกำลังภายในที่ำกำลังอ่านติดพันอยู่อ่ะนะ) ประชดได้ไงวะ ก็มันเป็นความจริงนี่นา ตอนเศรษฐกิจฟองสบู่แตก เงินเดือนเราโดนแช่แข็งอยู่ ๓ ปีเต็ม (ซึ่งยังดีกว่าหลายๆ บริษัทที่โดนลดเงินเดือน) แต่นายเราไม่ทันไหวตัว มัวแต่คิดว่าไม่ควรตอบอะไรที่ทำให้พนักงานรู้สึกทางลบ ก็เลยไม่ได้ตอบ เสไปถามว่ามีคอมเมนต์เรื่องอื่นไหม

เราเลยบอกไปว่า อีกอันที่ไม่ค่อยเห็นด้วย คือการที่ทุกๆ ระดับได้เงินเดือนขึ้นเปอร์เซ็นต์เท่ากัน คนที่เงินเดือนเยอะๆ ก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่คนเงินเดือนน้อยๆ ขึ้น ๕-๖% มันรู้สึกเซ็งในอารมณ์ เราคิดว่าเด็กๆ น่าจะได้เปอร์เซ็นต์เยอะหน่อย

เขาบอกว่า เขายอมรับว่าเพิ่งทันได้คิดเรื่องนี้หลังจากที่ประกาศเงินเดือนออกไปแล้ว เขาตั้งใจไว้ว่าปีหน้าคงจะกำหนดเปอร์เซ็นต์ให้ต่างกัน คือพวกแก่ๆ อาจจะได้ซัก ๓-๕% ส่วนเด็กๆ อาจจะได้ซัก ๗-๙%

เราออกมาจากห้องแล้วถึงนึกได้ว่าที่เขาพูดมานั่น แทนที่ว่าเด็กๆ จะได้เพิ่มขึ้น กลายเป็นว่าคนแก่ๆ ได้ลดลง เวรกรรมเลยกรู... "ผิดท่า" เป็นคำรบสอง -_-"