หนังของเป็นเอก
พอดีปิฯดูมนต์รักทรานซิสเตอร์ของเป็นเอก รัตนเรือง แล้วบอกว่าชอบหนังของเป็นเอกทุกเรื่อง บางเรื่องชอบมากบางเรื่องชอบน้อย แต่ชอบทุกเรื่อง เราก็เห็นด้วยที่สุด

เราโชคดีได้ดูหนังของเป็นเอกตั้งแต่เรื่องแรกได้เห็นความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในหนังแต่ละเรื่อง (ในแง่ของความรู้สึกของเราในฐานะคนดูนะ เราไม่มีความสามารถพอจะไปวิเคราะห์เจาะลึกว่าหนังเขามีความเปลี่ยนแปลงด้านรูปแบบเทคนิคหรือสไตล์ไปอย่างไร)

อย่าง "ฝันบ้าคาราโอเกะ" นี่ ก่อนดูได้อ่านบทสัมภาษณ์ของเขาในนิตยสารผู้หญิงเล่มหนึ่ง (เป็นความบังเอิญมาก ประมาณไปทำฟันหรือตัดผมหรือไงเนี่ยแหละ เพราะปกติเราไม่(มีตังค์)ซื้อนิตยสารพวกนี้อ่าน) ก็คิดว่าคนคนนี้มีความคิดน่าสนใจดีแฮะ ก็เลยตั้งใจว่าถ้าหนังเรื่องนี้เข้าจะต้องไปดู ก็รออยู่นานพอดูเชียวแหละ เพราะดูเหมือนหนังเขาจะไปฉายตามเทศกาลหนังต่างประเทศก่อนมาฉายในไทย (ประมาณว่าไม่มีตลาดพอ ต้องไปเก็บกล่องสร้างเครดิตจากเมืองนอกมาก่อน)

เราดูฝันบ้าฯแล้วก็ชอบมาก เป็นหนังนอกกระแสที่ดูสนุก เราชอบที่เขาเอาความคิดไทยๆ ความเชื่อไทยๆ ไปใส่ในหนังได้กลมกลืน (เราหนังเรื่องนี้ทำให้เราติดใจอยู่อย่างหนึ่ง คือ นึกไม่ออกว่าเพลงที่น้าปั่นร้องตอนไปคาราโอเกะชื่อเพลงอะไร -- เราจำว่าเนื้อมันเป็นประมาณ ฟ้าหัวเราะเยาะข้า ชะตาหรือ... แต่ก็ไม่แน่ใจ ตอนหลังเราไปหาเจอว่าเป็นเพลงอะไร จดไว้ด้วย แต่ตอนนี้ก็ลืมอีกแล้ว :P)

ฝันบ้าฯไม่ใช่หนังตลาด (ไม่ผี ไม่ตลก ไม่โป๊ ไม่กระเทย ไม่วัยรุ่น) เลยทำเงินได้ไม่ค่อยดีเท่ากับเรื่องถัดมา คือ "ตลก ๖๙" เรื่องนี้ได้หมิวลลิตามาเล่นในบทที่แปลกไปจากที่เราเคยเห็น (คือ โทรมๆ ไม่สวย) ความที่ได้ดาราดังและเป็นหนังเป็นตลก (ร้าย) เนื้อเรื่องและการนำเสนอตลาดกว่าฝันบ้าฯ ก็เลยทำเงินได้พอดู และทำให้ชื่อของเป็นเอกเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างในฐานะผู้กำกับ หลายๆ คนชอบเขาจากหนังเรื่องนี้ แต่เราชอบฝันบ้าฯมากกว่า

เรื่องต่อมาคือ "มนต์รักทรานซิสเตอร์" เป็นเรื่องที่เราชอบที่สุดในบรรดาหนังของเป็นเอก หลายๆ คนเข้าไปดูแล้วงงหรือผิดหวัง เพราะคิดว่าจะเป็นหนังตลกแนวเดียวกับ ตลก ๖๙ แต่มนต์รักฯเป็นหนังเศร้านะ เศร้าน้ำตาไหลพรากๆ เลยด้วย เป็นเอก ทำแปลกอีกแล้วด้วยการเลือกนักแสดงอย่างต๊อกศุภกรกับอุ้มสิริยากรมารับบทลูกทุ่งบ้านนอกสไตล์ไอ้ขวัญ-อีเรียม

ในแง่ฝีมือนั้นไม่ได้กังขาแต่ดูภาพพจน์สองคนนี้แล้วไม่ค่อยให้ซักเท่าไหร่ ต๊อกศุภกรดังมาจากบทปุ๊ระเบิดขวดใน "๒๔๙๙ อันธพาลครองเมือง" ซึ่งเป็นหนังพีเรียดแบบจิ๊กโก๋ๆ ก็พอกล้อมแกล้มให้นึกว่าจะมาเล่นบทนักร้องลูกทุ่งได้ แต่อุ้มนั้นเราไม่สามารถโยงใยไปถึงบทลูกทุ่งขนาดนี้ได้จริงๆ เราเลยเดาเองว่าการที่อุ้มได้บทนี้น่าจะเกิดจากความสนิทสนมระหว่างเป็นเอกกับปราบดา หยุ่น (ซึ่งสนิทสนมกับอุ้มเป็นพิเศษในขณะนั้น) แต่ทั้งนั้นและทั้งนี้เราดูหนังจบแล้วก็โอเคกับการแสดงของทั้งสองคน

หลังจากเรื่องมนต์รักฯ ก็มาเป็น "เรื่องรักน้อยนิดมหาศาล" ที่คราวนี้เป็นเอกโกอินเตอร์อย่างแท้จริง เพราะได้คริสโตเฟอร์ ดอล์ยผู้กำกับภาพอินเตอร์ (ที่เคยกำกับภาพให้หนังอย่าง Psycho ฉบับรีเมคที่มี Vince Vaughn เล่นเป็นเจสัน กับ The Quiet American) มาช่วยกำกับภาพ และมีดาราญี่ปุ่นมาเป็นพระเอก (จำชื่อไม่ได้อีกตามเคย) มาเล่น ได้นักเขียนซีไรท์อย่างปราบดา มาเขียนเรื่องให้

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราดูไม่ค่อยรู้เรื่องเอาเป็นอันมาก เพราะมันลอยๆ จนจับอะไรเป็นชิ้นเป็นอันไม่ค่อยได้ เรารู้สึกว่าประเด็นของเรื่องมันนิดเดียวเองแต่เอามานำเสนอวนเวียนซะใหญ่โต หรือว่าจะเป็นไปตามชื่อเรื่อง คือ เรื่องรัก(มันมีอยู่)น้อยนิด(แต่เอามาทำซะยังกะมันยิ่งใหญ่)มหาศาล ดูแล้วก็ชวนแต่จะคิดว่า "เฮ้ย จะพาฉันไปไหนก็รีบๆ พาไป ไม่ต้องชักช้าร่ำไร"

เราได้ไปอ่านบันทึกของเป็นเอกตอนที่เขาทำเรื่องรักน้อยนิดมหาศาล เขาเล่าให้ฟังว่า การได้ทำงานกับผู้กำกับภาพอินเตอร์อย่างดอล์ย นั้นทำให้เขาได้เรียนรู้แง่มุมใหม่ๆ ที่พอย้อนกลับไปดูงานเก่าๆ ของตัวเองแล้วรู้สึกอายว่า เฮ้ย ทำไมเราเชยขนาดนั้น เขาบอกว่าตอนที่ทำเรื่องแรกๆ เขาคิดแค่ว่ามีเรื่องมีมุมมองจะนำเสนอ ก็เสนอเปรี้ยงออกไป ไม่ได้มีแท็กติก ไม่ต้องอ้อมค้อม (หรือบางคนอาจจะบอกว่าไม่มีศิลปะ) พอได้มาเห็นมุมมองของดอล์ยเลยรู้ว่า ไม่ต้อง "บอก" ให้มันโจ่งแจ้งขนาดนั้นก็ได้

เราเลยคิดว่า อ๋อ เข้าใจแล้วว่า ทำไม เรื่องรักฯ มันถึงได้วนเวียนล่องลอยขนาดนั้น ก็ปราบดาเจ้าของเรื่องก็ได้ชื่อว่าเป็นคนเขียนหนังสือไม่ธรรมดาอยู่แล้วเล่นภาษาเล่นคำซะขนาด แล้วยังมีผู้กำกับภาพเน้นการเล่าด้วยภาพ กับผู้กำกับที่กำลังต้องการจะฉีกสไตล์การทำหนังออกไปจากแบบเดิมๆ อีก หนังก็เลยไปในทิศทางแบบนั้น จะสังเกตว่าหนังมีบทพูดน้อยมากๆ เป็นภาพนิ่งๆ ที่แช่กล้องไว้กับคนหรือสิ่งของซะเยอะ

สุดท้ายถามว่า ชอบไหมหนังเรื่องนี้ เราก็ว่ามันโอเค แต่เราอาจจะเป็นคนเชยๆ และไม่ค่อยมีแท็กติกอะไรมาก เพราะฉะนั้นจะ "บอก" ให้มันโจ่งแจ้งหน่อยก็ได้ เราไม่ว่า เราชอบ :)

ทีนี้ก็มาเรื่องคนชอบบอกว่าเป็นเอกทำแต่หนังอาร์ต ไม่ทำหนังตลาด ไม่ทำตามใจคนดู ท่าทางเขาก็จะได้ยินความเห็นทำนองนี้เหมือนกัน เขาเถียงว่าจริงๆ แล้ว เขานึกถึงคนดูตลอดไม่ได้ทำเอามันส์อย่างเดียว แต่ประมาณว่าการนำเสนอออกสู่ตลาดของเขามันอาจจะไม่เหมือนกับการตลาดในการทำหนังทั่วๆ ไปซักเท่าไหร่

เขามองว่าเวลาทำหนังไม่จำเป็นต้องทำให้มันใหญ่ให้คนทุกเพศทุกวัยดู เพราะฉะนั้นระบบการฉายหนังในปัจจุบันแบบที่สัปดาห์แรกเปิดฉายพร้อมกันทั่วกรุงเทพฯมันไม่เหมาะกับหนังของเขา ก็คิดดูว่าเปิดตัววันแรกสาขาชานเมืองกรุงเทพอาจจะมีคนดูซัก ๑๐ กว่าคน แต่ค่าทำก๊อปปี้ฟิล์มหนังแต่ละชุดนั่นเป็นแสนๆ นะ เป็นแบบนี้ทำหนังกี่ทีก็เจ๊ง

หนังบางเรื่องมีทุนมากและมีกลุ่มเป้าหมายกว้างใหญ่ก็สามารถเปิดตัวสัปดาห์แรกทีละเป็นสิบๆ โรงทั่วกรุงเทพฯหรือทั่วประเทศได้ (อย่าง "แฟนฉัน") แต่ถ้าเป็นหนังนอกกระแสเขาหวังอยากให้ระบบโรงหนังเมืองไทยยอมรับการทำหนังแค่ไม่กี่ก๊อปปี้และวนไปฉายตามโรงต่างๆ หรือไม่ก็ฉายแค่บางโรงที่น่าจะมีคนดูแน่ๆ

เขาบอกว่า "ผมของร้องเหอะ พวกอยู่ปากน้ำอยู่รังสิต ช่วยนั่งรถมาดูหนังผมที่สยามหน่อยได้ไหม" เราตอบในใจตอนที่อ่านว่า "ไม่ได้" :) เพราะเราไม่ชอบไปสยาม พวกหนังดีๆ หนังอาร์ตๆ ที่บอกว่า "ฉายที่นี่ที่เดียว" ในโรงแถวๆ สยามหนะ ไม่มีทางได้ตังค์เราเลย ถึงจะชอบดูหนังขนาดไหน เราก็ไม่กระเสือกกระสนไปขนาดนั้น สมัยวัยรุ่นๆ ก็ยังพอทำเนา แต่เดี๋ยวนี้หมดไฟจะเดินทาง แต่ก็เข้าใจจุดยืนของเขา (คือ ของเป็นเอก)

แต่ตอนนี้โรงหนังเมืองไทยยังไม่เป็นแบบนั้น เป็นเอกบอกว่าเขาแก้ระบบไม่ได้ก็เลยใช้วิธีสร้างกระแสขึ้นมา คือต้องทำหนังแล้วเอาออกไปฉายนอกบ้านตามเทศกาลหนังต่างๆ ก่อน ให้ฝรั่งชื่นชมก่อน แล้วคนไทยด้วยกันถึงจะหันมาดูหนังของเขา โชคดีที่เป็นเอกมีคอนเน็คชั่นอยู่ในต่างประเทศเยอะ (เขาไปเรียนทำหนังที่อเมริกา) ถึงทำแบบนี้ได้ ไม่งั้นเราคงไม่ได้มีโอกาสดูหนังดีๆ ของผู้กำกับคนนี้แน่ๆ