นิยาย – เทคโนโลยี – วิทยาศาสตร์
ตอนนี้เรื่องรหัสลับดาวินชีกำลังเป็นที่กล่าวขวัญ พี่ปุ๊กมาโปรโมทว่าสนุกสนานและได้ความรู้ ชื่นชมว่าคนเขียนเก่งมาก เพราะมีทฤษฎีแน่นปึ้กมารองรับกับเรื่องราวที่จินตนาการขึ้นมา อ่านแล้วก็อยากจะรู้จักคนเขียนว่าเป็นใครมากจากไหนต้องมีความรู้ระดับไหนถึงเขียนแบบนี้ได้ แถมบอกต่ออีกว่าสนุกว่าเดอะริงซะอีก

เรารู้เนื้อหาบางส่วนจากบทวิจารณ์ในมติชน ก็เห็นด้วยกับพี่ปุ๊กว่าคนเขียนต้องมีความรู้แน่นมากๆ แล้วก็ต้องบวกกับจินตนาการเยอะๆ ด้วย ตอนที่เราอ่านเดอะริงซีรี่ส์เขาก็คิดเช่นนี้เหมือนกัน เดาเอาว่าคนเขียน (ทั้งสองเรื่อง) ต้องเป็นที่มีความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ (เดอะริงอาจจะเป็นหมอหรือวิศวพันธุกรรม ดาวินชีอาจจะเป็น Pure Math) แต่มาเอาดีทางเขียนหนังสือ

คนไทยที่เป็นคล้ายๆ แบบนี้ก็มีนะ อย่างสรจักรที่เขียนเรื่องสืบสวนสอบสวน หรือ วินทร์ เรียววารินทร์ (ที่รู้สึกจะจบสถาปัตย์) แต่เป็นแค่คล้ายๆ เท่านั้นนะ ยังเทียบกับอย่างเดอะริงซีรี่ส์หรือดาวินชีไม่ได้ เพราะนักเขียนไทยยังไม่กล้าเอาทฤษฎีแบบฮาร์ดคอร์มาผูกเป็นเรื่องเป็นราว (ตอนที่เราอ่านลูป เขาอธิบายเรื่องการเรียงตัวของดีเอ็นเอ A-C-G-T บ้าบออะไรไม่รู้ เรางี้ตาเป็นจุดเลย โห... ใครว่านิยายเป็นเรื่องโม้ๆ เพราะคนเขียนเขาไม่ได้โม้เลยนะ)

เราเดาว่ามีสองสาเหตุ หนึ่งคือ คนเขียนอาจจะคิดว่ามันยากไป แล้วจะไม่มีคนอ่าน (คนไทยยังชินภาพนิยาย กับเรื่องความรัก ชีวิต ฯลฯ นิยายคือบันเทิงไม่ใช่วิชาการ) อีกสาเหตุหนึ่งคือ เราไม่มีนักเขียนที่มีความรู้ลึกๆ แบบนั้น อาจจะเป็นว่าค่านิยม เรียนหมอก็เป็นหมอไปสิ เรียนคณิตศาสตร์ก็ไปเป็นนักวิชาการหรืออาจารย์ไปสิ มาเป็นนักเขียนได้ไงกัน

อีกอันหนึ่งที่จะว่าเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็เกี่ยวจะว่าไม่เกี่ยวก็ไม่เกี่ยว คือ วันก่อนเราอ่านมติชน แล้วอาจารย์นิธิ ตั้งคำถามคล้ายๆ กับที่พี่ปุ๊กเคยบ่นว่า ทำไมประเทศอย่างญี่ปุ่นเนี่ยออกแบบ Boiler เองได้แล้ว แต่คนไทยยังออกแบบ “ฮ่า” อะไรไม่เป็นซักอย่าง (เราขอเถียงนิดหนึ่ง คนไทยออกแบบรถตุ๊กตุ๊ก)

อาจารย์นิธิเขาย้อนไปถึงสมัยรัชกาลต้นๆ ว่าคนไทยสมัยก่อนถูกส่งไปเรียนเมืองนอกเพื่อไปเรียนสายเศรษฐกิจ สังคม/การเมือง และเทคโนโลยี แต่ไม่ได้เรียนวิทยาศาสตร์ (ในความหมายที่ว่า เทคโนโลยี คืองานช่าง คือการประยุกต์เอาวิทยาศาสตร์มาใช้งาน แต่ วิทยาศาสตร์คือทฤษฎีที่เป็นพื้นฐานรองรับ ซึ่งบางทีอาจไม่มีประโยชน์ใช้สอยเลย)

เรามุ่งเรียนแต่สิ่งที่ผ่านการขัดเกลาตัดทอนเพื่อให้ใช้งานได้เท่านั้น ไม่ค่อยสนใจสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ใช้สอย (ยอมรับว่าตัวเราเองก็เป็น ทำให้เวลาทำงานแล้วติดปัญหาบางอย่าง เราไม่มีวิจารณญาณในการตัดสินผิดถูกได้ เพราะทฤษฎีเราไม่แน่น) ต้องอย่าลืมว่า สิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ล้วนเกิดจากทฤษฎีบวกกับจินตนาการ

อาจารย์นิธิ ยกตัวอย่างอันหนึ่งว่า พระมหากษัตริย์คนไทยเห็นเรือกลไฟของต่างประเทศ ก็สั่งให้ช่างจำลองส่วนต่างๆ ขึ้นมาใหม่ เพื่อที่เราจะได้ทำเป็นเหมือนเขามั่ง ช่างของไทยก็สามารถทำเหมือนเป๊ะทุกอย่าง แต่เราจะออกแบบเองได้ไง ถ้าไม่เข้าใจการทำงานของวัฏจักรไอน้ำ เราอ่านแล้วปิ๊งเลย ถึงว่าสิ คนไทยถึงยังผลิตรถยนต์เองไม่ได้ แต่มาเลย์เซียมีรถโปรตอนวิ่งเต็มเมือง

เราว่า การมีความรู้มากพอที่จะออกแบบอะไรต่ออะไรได้ ต้องการทั้งความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติของสิ่งเหล่านั้น บวกกับความรู้ในทางการคำนวณด้วย (ไอน์สไตน์ ยังต้องมีเพื่อนคู่หูที่เป็นเซียน Math มาช่วยพิสูจน์ทฤษฎีสัมพันธภาพ) ตราบใดที่ประเทศเรามีคนที่มุ่งเรียนทางวิศวกรรมมากกว่า Pure Math, Pure Science เป็นสิบๆ เท่า ก็คงยากที่คิดค้นผลิตอะไรได้เอง

ปัญหาอีกอันหนึ่งที่เป็นสิ่งที่สกัดความเจริญของไทย คือการไม่รู้จักเก็บบันทึกข้อมูลหรือเรื่องราวแบบมีหลักการ ใครทำอะไรที่ไหน ไม่มีบันทึกไว้ หรือบันทึกแล้วก็บิดๆ เบี้ยวๆ แต่ประเทศที่เจริญๆ เขาเก็บไว้หมด (เทียบกับเรื่องที่พี่ปุ๊กมาชวนให้ดูก็ได้ ก็สารคดีเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกในยุคอุตสาหกรรมนั่นไง เขาทำเป็นเรื่องเป็นราวให้เราดูได้แบบนั้น เพราะเขามีบันทึกที่ดี ทีนี้ลองนึกว่าเราจะทำสารคดีเกี่ยวกับคนที่ผลิตรถตุ๊กตุ๊กของไทยสิ โห... จะไปหาที่ไหนล่ะ นี่ยังไม่ต้องคิดไกลไปถึงขนาดว่าจะพัฒนารถตุ๊กตุ๊กเพื่อโกอินเตอร์นะ)

กลับมาที่เรื่องหนังสือ/นิยายอีกที ก็เพราะไอ้การที่พวกนักวิขาการพวกมีความรู้ เขียนบันทึกไม่ได้ อธิบายเรื่องยากๆ ให้คนอื่นเข้าใจไม่ได้ นอกจากเราไม่มีบันทึกเก็บไว้ให้ลูกหลานถ้า(บังเอิญฟลุค)เราคิดค้นอะไรได้แล้ว เราก็เลยไม่มีคนที่จะสามารถแต่งนิยายสนุกๆ และมีความรู้ได้ไปด้วย – โยกมาจนเป็นเรื่องเดิมได้ สามารถมากเลยนะเนี่ย 5555