ความสามารถ-ศิลปะ

เมื่อประมาณสองสัปดาห์ก่อนหมูส่งลิงก์เว็บไซต์วรรณกรรมมาให้ เขามีประกวดการแปลวรรณกรรมคลาสสิกภาษาอังกฤษกับฝรั่งเศส เราเห็นแล้วก็เออน่าสนใจ แต่พอเห็นเรื่องที่เขาให้แปลแล้วก็ลังเล เขาให้แปลเรื่องของมาร์ค ทเวนอ่ะนะ จะไหวเรอะนั่น

ก็เราหนะจำแม่นยำได้ว่าเมื่อก่อนสมัยที่ยังเทียวเข้าเทียวออกเว็บแม่บ้านอีวิ่น มีคนเอาเนื้อเพลงมาแปะ แล้วก็ขอว่าให้ใครก็ได้ช่วยแปลให้ด้วย เราก็ลองๆ แปลไปให้ แล้วมีคนแถวๆ นี้บอกประมาณว่า ต้องยอมรับว่าความเข้าใจในภาษาอังกฤษของเราน่ะใช้ได้อยู่หรอก แต่แหม... แปลไม่ได้อารมณ์ของเพลงรักเลย (ประมาณว่า ทื่อมะลื่อไม่มีวรรณศิลป์)

แต่ทั้งนั้นทั้งนี้ เราอ่านเรื่องที่เขาให้ประกวด แล้วก็คิดว่าไม่โหดร้ายจนเกินไป เพราะเป็นแนวเสียดสีหน่อยๆ และเป็นแค่ประมาณบทความเอง (ความยาวเรื่องแค่ไม่ถึงสองหน้า A4) ก็เลยตัดสินใจแปลส่งไป

จากที่ตอนแรกคิดว่า อย่างเราเนี่ยนะจะแปลมาร์ค ทเวน เกินไปแล้ว ก็กลายเป็นเริ่มลุ้นผลอยู่ในใจ ประมาณว่าเขาบอกว่าจะประกาศผลวันนี้ แต่ตั้งแต่วันศุกร์ที่แล้วเราก็ใจไม่ค่อยอยู่กะเนื้อกะตัวแล้ว เข้าไปดูที่เว็บเขาก็มาอัพเดทข่าวเพิ่มว่า คนที่ชนะประกวดจะได้เป็นนักแปลของเว็บ แล้วเขาจะทยอยส่งเรื่องมาให้แปลต่อไป ส่วนบางคนที่เขาคิดว่าสำนวนพอใช้ได้ แต่ไม่ชนะ ก็อาจจะติดต่อภายหลังให้มาร่วมงานแปล เราก็เลยเปลี่ยนเป็นหวังว่า เออ... ไม่ชนะไม่เป็นไร ขอแค่ได้ติดในคนกลุ่มคนที่สำนวนพอใช้ได้ก็ยังดี

เมื่อวานเราก็เข้าไปที่เว็บที่มีการประกวดสามรอบสี่รอบ (ทั้งๆ ที่เขาบอกว่าประกาศผลวันนี้) จนดึกๆ เขาก็ประกาศผลออกมา เป็นไปตามคาดฮ่ะ ชื่อคนชนะไม่ใช่เรา :'( เขาบอกว่ามีคนส่งผลงานประกวด ๕๒ สำนวน มี ๔ สำนวนที่เข้ารอบ และทุกสำนวนก็ยังไม่ค่อยดีเท่าที่ควร (เขาใช้คำว่า “ยังต้องเหนื่อยแรงบรรณาธิการอีกมาก”)

สรุปว่า เราคงต้อง stick อยู่กับการแปลเรื่องพวกประมาณแฟร์มาต์จะดีกว่า ไม่ต้องใช้วรรณศิลป์มากนัก เอาแค่อ่านพอเข้าใจก็พอแล้ว :P

ปล. ชื่อไดอารี่วันนี้อ่านว่า “ความสามารถ ลบ ศิลปะ” นะ

การสนทนาทางโทรศัพท์ โดย มาร์ค ทเวน

ผมใคร่ครวญพิจารณาแล้วก็คิดว่าการสนทนาทางโทรศัพท์ ที่คุณเพียงแต่นั่งฟังเฉยๆ โดยไม่ได้มีส่วนร่วมในการสนทนานั้น เป็นการกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นได้มากที่สุดสำหรับชีวิตยุคใหม่ เมื่อวานนี้ผมกำลังจะเขียนบทความเกี่ยวกับปรัชญาอันละเอียดอ่อน ในขณะที่มีการสนทนาแบบนี้เกิดขึ้นในห้องเดียวกัน ผมสังเกตว่าคนเรามักจะเขียนหนังสือได้ดีที่สุดเวลาที่มีคนอื่นนั่งคุยโทรศัพท์อยู่ใกล้ๆ คือว่า.. เรื่องมันเป็นอย่างนี้ครับ สมาชิกคนหนึ่งในครัวเรือนของผมได้มาขอร้องให้ผมต่อโทรศัพท์ไปที่บ้านของมิสเตอร์แบ็กลีย์ที่อยู่ในเมือง ผมก็ได้สังเกตเห็นในหลายๆ เมืองว่าเพศที่แสนนุ่มนวลนี้มักจะลังเลใจที่จะโทรศัพท์ไปที่ชุมสายโทรศัพท์กลางด้วยตัวเอง ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไม แต่พวกเขามักเป็นแบบนั้น ดังนั้นผมก็เลยต้องเป็นคนกดกริ่ง และบทสนทนาต่อไปนี้ก็เกิดขึ้น:

ชุมสายโทรศัพท์. [เสียงกระด้าง] ฮัลโหล!
ผม. ที่นั่นชุมสายโทรศัพท์ใช่ไหมครับ?
ชุมสายฯ.ใช่แน่นอนอยู่แล้ว คุณต้องการอะไร?
ผม.ช่วยกรุณาต่อสายผมไปที่บ้านของคุณแบ็กลี่ย์หน่อยได้ไหมครับ?
ชุมสายฯ. อ๋อได้สิ เอาหูของคุณแนบไว้ที่โทรศัพท์นะ
หลังจากนั้นผมก็ได้ยินเสียง ค..รืด, ค..รืด, ค..รืด – รืด, ครืด, ครืด, ครืด! แล้วก็เสียง “ขบฟัน” ดังน่ากลัว และในที่สุดก็เป็นเสียงแปร๋นๆ ของผู้หญิง “คะ…? [ยกหางเสียงสูงเป็นเชิงถาม] คุณอยากจะพูดกับฉันใช่ไหมคะ?”

ผมไม่ได้ตอบคำถาม แต่ยื่นโทรศัพท์ไปให้ผู้ขอร้องแล้วนั่งลง สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นนับเป็นสิ่งที่ประหลาดที่สุดในบรรดาสิ่งประหลาดทั้งหลายทั้งปวงในโลกนี้ การสนทนาที่มีเพียงด้านเดียว คุณได้ยินคำถามแต่ไม่ได้ยินคำตอบ ได้ยินคำเชิญชวนที่บอกออกไป แต่ไม่ได้ยินคำขอบคุณตอบกลับมา คุณได้ฟังการหยุดเป็นช่วงๆ ของความเงียบงัน ตามด้วยคำอุทานที่เห็นได้ชัดว่าไม่มีความเกี่ยวข้องและไม่สมเหตุสมผล แสดงความประหลาดใจที่น่ายินดี, หรือความเศร้าใจ, หรือความไม่พอใจ คุณไม่สามารถจับต้นชนปลายเกี่ยวกับการพูดคุยได้ เพราะคุณไม่ได้ยินอะไรที่ผู้ที่อยู่ที่ปลายอีกด้านหนึ่งของสายโทรศัพท์พูดเลย อืมม์, ผมได้ยินข้อสังเกตต่างๆ ที่แสนน่าทึ่งต่อไปนี้ ทั้งหมดนี้มาจากปลายลิ้นของคนคนเดียว และทั้งหมดนี้ถูกตะโกนออกมาทั้งสิ้น – เพราะไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ตามคุณไม่สามารถจะเกลี้ยกล่อมให้เพศที่แสนนุ่มนวลพูดจาอย่างสุภาพนุ่มนวลใส่หูโทรศัพท์ได้

ใช่เหรอ? ทำไมล่ะ มันเกิดขึ้นได้อย่างไร?
หยุด.
แล้วคุณพูดว่าอย่างไรล่ะ?
หยุด.
อ๋อ, ไม่หรอก ฉันไม่คิดว่ามันเป็นแบบนั้น
หยุด.
ไม่นะ! อ๋อ, ไม่ใช่ ฉันไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้น ฉันหมายความว่า เอามันใส่ลงไปตอนที่มันยังเดือดอยู่ – หรือไม่ก็ก่อนที่มันจะเริ่มเดือด
หยุด.
อะไรนะ?
หยุด.
ฉันเก็บมันเข้าไปด้วยการด้นถอยหลังบนผ้ากุ๊นขอบ
หยุด.
ใช่ ฉันชอบให้มันเป็นแบบนั้นเหมือนกัน แต่ฉันคิดว่ามันจะดีกว่าถ้าเย็บมันติดกับลูกไม้วาเลนซีนหรือผ้า บอมบาซีนหรืออะไรทำนองนั้น มันช่วยสร้างบรรยากาศ – แล้วก็ดึงดูดความสนใจได้มาก
หยุด.
มันคือเล่มที่สี่สิบเก้าดูเทอโรโนมี บทที่หกสิบสี่ถึงบทที่เก้าสิบเจ็ด ฉันคิดว่าเราทุกคนควรจะอ่านคัมภีร์ไบเบิ้ลให้บ่อยกว่านี้
หยุด.
อาจจะเป็นอย่างนั้นก็ได้ ฉันมักจะใช้หมุดปักผมมากกว่า
หยุด.
คุณพูดว่าอะไรนะ? [หันไปพูดข้างๆ] เด็กๆ เงียบๆ กันหน่อย
หยุด.
อ๋อ! ตึกแถวบี โล่งอกไปที ฉันนึกว่าคุณพูดว่ามันคือแมว
หยุด.
ตั้งแต่เมื่อไหร่นะ?
หยุด.
ทำไมฉันถึงไม่ได้ยินมาก่อนเลยนะ
หยุด.
คุณทำให้ฉันตะลึงไปเลย! มันดูไม่มีทางเป็นไปได้เลยนี่!
หยุด.
ใครเป็นคนทำนะ?
หยุด.
พระเจ้าช่วย!
หยุด.
เฮ้อ, โลกเราเป็นอะไรกันหมดไปแล้วนี่? มันเกิดขึ้นข้างในโบสถ์เลยงั้นหรือ?
หยุด.
แล้วแม่ของหล่อนอยู่ที่นั่นด้วยหรือเปล่า?
หยุด.
ทำไมนะ, มิสซิสแบ็กลี่ย์, ถ้าเป็นฉัน ฉันคงต้องตายด้วยความอับอาย! พวกเขาทำอะไรนะ?
หยุดนาน.
ฉันไม่แน่ใจเหมือนกัน เพราะว่าฉันไม่มีโน้ตอยู่ใกล้ๆ แต่ฉันคิดว่ามันน่าจะเป็นคล้ายๆ แบบนี้: ที-รอลลี-ลอล-ลอล, ลอล ลอลลี-ลอล-ลอล, โอ ทอลลี-ลอล-ลอล-ลี-ลี้-ลิ-อิ-ดู! แล้วก็ร้องซ้ำนะ คุณรู้ใช่ไหม
หยุด.
ใช่, ฉันคิดว่ามันซึ้งมาก – และจริงจังและน่าประทับใจมากๆ ถ้าคุณจับจังหวะอันดานทิโนและพีอานิซิโมได้ถูกต้อง
หยุด.
อ๋อ, ลูกอมเยลลี่, ลูกอมเยลลี่! แต่ฉันไม่ยอมให้พวกเขากินลูกกวาดที่เป็นลายทางยาวๆ เป็นอันขาด และแน่นอนว่าพวกเขายังกินมันไม่ได้ อย่างน้อยก็จนกว่าพวกเขาจะมีฟันขึ้น
หยุด.
อะไรนะ?
หยุด.
อ๋อ,ไม่แม้แต่นิดเีดียว – ว่าไปได้เลย เขานั่งเขียนหนังสืออยู่ตรงนี้แหละ – มันไม่รบกวนเขาหรอก
หยุด.
ดีค่ะ ฉันจะไปถ้าไปได้ [หันมาพูดข้างๆ] น่าสงสารจริงๆ, มันทำให้คนเราเมื่อยแขนมากขนาดไหนที่ต้องถือเจ้าสิ่งนี้ไว้นานขนาดนี้! ฉันน่ะอยากจะให้เธอ –
หยุด.
อ๋อ, ไม่หรอก, ไม่เลยแม้แต่น้อย ฉันอยากจะคุยจริงๆ – แต่ฉันเกรงว่าจะรบกวนเวลาของคุณที่จะทำธุระอื่นๆ
หยุด.
มีแขกมาเยี่ยม?
หยุด.
ไม่นะ เราไม่เคยใช้เนยกับมันหรอก
หยุด.
ใช่ นั่นเป็นวิธีที่ดีมากๆ แต่ตำราทำอาหารทุกเล่มต่างบอกว่ามันไม่ดีต่อสุขภาพเวลาที่มันออกนอกฤดูกาล และเขาก็ไม่ชอบมันอยู่แล้ว – ยิ่งเป็นแบบที่บรรจุกระป๋องด้วยแล้ว
หยุด.
โอ, ฉันคิดว่านั่นมันแพงเกินไปสำหรับพวกนั้น เราไม่เคยจ่ายเกินห้าสิบเซ็นต์ต่อหนึ่งช่อเลย
หยุด.
คุณต้องไปแล้วเหรอ? งั้นกู๊ดบายค่ะ
หยุด.
ใช่ ฉันก็คิดว่าอย่างนั้น กู๊ดบายค่ะ
หยุด.
งั้นตกลงว่าเป็นสี่โมงนะ ฉันจะเตรียมตัว กู๊ดบายค่ะ
หยุด.
ต้องขอบคุณคุณมากๆ เลย กู๊ดบายค่ะ
หยุด.
อ๋อ, ไม่เป็นไรค่ะ – ยังสดอยู่เหมือนกัน – อันไหนนะ? อ๋อ, ฉันดีใจมากที่ได้ยินคุณพูดแบบนั้น กู๊ดบายค่ะ
[วางหูโทรศัพท์และพูดว่า “เฮ้อ, เจ้าสิ่งนี้มันทำให้เมื่อยแขนมากๆ เลยนะ!]

ผู้ชายพูดคำว่า “กู๊ดบาย” อย่างห้วนๆ เพียงครั้งเดียว แล้วนั่นก็เป็นการสิ้นสุดบทสนทนา แต่มันไม่เป็นแบบนั้นสำหรับเพศที่แสนนุ่มนวล – นี่ผมพูดด้วยความชื่นชมพวกเขานะ พวกเขาไม่มีทางยอมรับการตัดบทห้วนๆ ได้หรอก

หมายเหตุ: เรื่องข้างบนแปลกจาก A telephonic Conversation ของ มาร์ค ทเวน เขาเขียนเรื่องนี้ในปี ๑๘๘๐ ในขณะที่การใช้โทรศัพท์เพิ่งเริ่มเป็นที่แพร่หลาย การโทรศัพท์ในสมัยนั้นยังต้องต่อสายไปยังชุมสายโทรศัพท์ เพื่อให้โอปะเรเตอร์โอนสายโทรศัพท์ไปยังปลายทางที่ต้องการ

เรื่อง A telephonic Conversation นี้เป็นเรื่องสั้นแนวเสียดสีและแทรกอารมณ์ขัน และถึงแม้จะมีอายุมากกว่า ๑๐๐ ปีแล้ว แต่อารมณ์ขันและแนวความคิดก็ยังทันสมัยและเป็นที่เข้าใจได้ในปัจจุบัน และต้องยอมรับว่าถึงแม้ในยุคนี้เราสามารถใช้โทรศัพท์ได้ในแทบจะทุกที่ แต่บทสนทนาทางโทรศัพท์ (ของคนอื่น) ก็ยังคงเป็นการกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของคนได้มากที่สุดอย่างไม่เปลี่ยนแปลง