Cambodia 2003 - Part III
วันสุดท้ายในเสียมเรียบค่อนข้างจะเป็นวันที่เบลอๆ สำหรับเรา จำอะไรไม่ค่อยได้ เพราะไม่ค่อยได้ฟังเขาบรรยายซักเท่าไหร่ วันนี้เริ่มต้นออกจากโรงแรมสายกว่าวันแรก ตามรหัส 6-7-8 ซึ่งก็เป็นการดีเพราะได้มีเวลาเก็บของลงกระเป๋าเตรียมตัวกลับบ้าน แต่กระเป๋าก็ยังทิ้งไว้ที่โรงแรมก่อน กลับจากเที่ยวแล้วถึงจะมาเช็คเอาต์ (โรงแรมให้อยู่ได้ถึง 5 โมงเย็น)

ตอนเช้าไปเที่ยวนครธมซึ่งเป็นเมืองหลวงที่สร้างหลังจากนครวัดประมาณ 100 ปี เป็นการสร้างครอบไปในส่วนนครวัดเดิมด้วย จึงมีบรรดาปราสาทต่างๆ ของทั้งสองยุคปะปนกันอยู่ ประตูทางเข้านครธมมีอยู่ 5 ประตู (เหนือ ใต้ ตก ทิศละ 1 ประตู ส่วนทิศตะวันออกมี 2 ประตู) ทุกทางเข้าจะมีสะพานนาคข้ามคูเมือง สองข้างของสะพานนาคจะมียักษ์กับเทวดายึดตัวพญานาคเอาไว้ บ้างก็ว่าเป็นการเปรียบเทียบมาจากการกวนเกษียรสมุทร บ้างก็ว่าเป็นแค่การมีพญานาคมีเทวดามียักษ์คอยปกป้องรักษาเมือง ที่ซุ้มประตูจะมียอดที่ทำเป็นหน้าของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 4 หน้า และด้านซ้ายขวามีรูปช้างเอราวัณสามเศียรอยู่ด้วย

เข้าไปในนครธมก็ต้องไปปราสาทที่เป็นไฮไลต์ก็คือปราสาทบายน ซึ่งมียอดปราสาทเป็นหน้าของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรอยู่ทั้ง 4 ด้าน แต่บ้างก็ว่าเป็นหน้าของพระเจ้าชัยวรมันต์ที่ 7 ซึ่งเป็นคนสร้างปราสาทบายน หน้าของพระโพธิสัตว์นี้เป็นหน้ายิ้มแบบจิตใจดีงาม เรียกกันว่า ยิ้มบายน แต่ก่อนที่เราจะได้ไปยลยิ้มบายน ก็ไปเดินดูภาพแกะสสักรอบๆ กำแพงก่อน ภาพแกะสลักที่ปราสาทบายนนี้จะแตกต่างจากที่นครวัดตรงที่จะมีภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ไม่ใช่ภาพของการเดินทัพหรือภาพแสดงความเชื่อ เช่นเราจะเห็นภาพการหุงหาอาหาร กิจกรรมในตลาด การละเล่นความบันเทิง หลังจากเดินชมภาพแกะสลักรอบๆ แล้ว ก็ตะลุยปีนขึ้นไปข้างบนปราสาทเพื่อไปมองภาพจากมุมสูงและถ่ายรูปยิ้มคนประชันยิ้มบายน

ตั้งแต่ตอนที่เราไปเที่ยวนครวัดเมื่อวันที่สองมีตากล้องเขมรชื่อคุณจันมาคอยตามถ่ายรูปพวกเราให้ ถ่ายเสร็จเขาจะเอาไปส่งให้ที่โรงแรม เขาคิดราคารูปละ 20 บาท จะว่าแพงก็แพง แต่จะว่าไปเขาก็ต้องให้ค่าความเป็นมืออาชีพของเขา เพราะเขาจะรู้มุมกล้องและรู้สถานที่ดี เขาจะคอยแนะนำว่า มาถ่ายตรงนี้เถอะถ่ายแล้วสวยดี (มีคนที่ไปในกลุ่มเราเขาให้ตากล้องถ่ายซะเกือบ 2 ม้วน) เราได้ใช้บริการคุณจันที่ปราสาทบายนเพราะความอยากลอง คือ เขาเรียกให้มาพวกเรามายืนหันข้างถ่ายรูปตรงช่องประตูที่มองลอดไปจะเป็นหน้าบายนหันข้าง เขาบอกว่า ถ่ายรูปตรงนี้จะเป็นรูปจมูกเราชนกับจมูกบายนพอดี เราไม่ค่อยอยากเชื่อว่าเขาจะทำให้จมูกชนได้ แต่ปรากฏว่าถ่ายออกมาก็ชนจริงๆ และคนอื่นๆ ก็เหมือนกัน พวกเราขึ้นไปยืนปั๊บเขาก็กดชัตเตอร์ปุ๊บเลย แทบไม่ต้องเล็ง แล้วเขาก็ไม่ได้สั่งให้พวกเราต้องขยับไปขยับมาด้วย ไม่ว่าตัวเตี้ยตัวสูงก็ถ่ายได้หมด

ลงจากปราสาทบายนก็เดินประมาณ 200 เมตรไปตรงที่เรียกว่า ลานช้าง ซึ่งสร้างเป็นคล้ายๆ กับพลับพลาที่ประทับที่คาดว่าพระเจ้าอยู่หัวจะมาประทับดูชนช้างและกีฬาบันเทิงต่างๆ ตรงฐานของพลับพลาจะมีรูปช้างสลักอยู่ในกิจกรรมต่างๆ คาดว่าเป็นที่นั่งของขุนนางและเจ้านาย มีอีกส่วนหนึ่งที่สลักเป็นรูปครุฑแบกซึ่งคาดว่าพระมหากษัตริย์จะประทับตรงนี้ ด้านหน้าของลานช้างเป็นลานกว้าง เรียกว่า สนามหลวง (คาดว่าประโยชน์ใช้สอยก็คงเหมือนสนามหลวงของเรา ไม่รู้ว่าใครเลียนแบบใคร)

เดินจากลานช้างก็เข้าไปดูปราสาทพิมานอากาศ ซึ่งมีความเชื่อ(แปลกๆ)ว่าเป็นที่ที่กษัตริย์ต้องมานอนกับนาคก่อนที่จะไปนอนกับมเหสี ถ้าไม่นอนกับนาคก่อนจะต้องตาย (ถ้าเป็นสมัยนี้ผู้ชายไปนอนกับคนอื่นก่อนจะมานอนกับเมียตัวเอง มันนั้นสิต้องตาย) เราไม่ได้ขึ้นไปที่ปราสาทนี้ แต่เดินไปดูสระสองสระที่อยู่บริเวณนั้น เป็นสระเล็กกับสระใหญ่ เขาเชื่อกันว่าสระใหญ่เป็นสระเป็นสระผู้ชาย สระเล็กเป็นสระผู้หญิง ตอนที่เราไปมีน้ำอยู่ค่อนข้างเยอะ ผนังด้านข้างๆ สระมีรูปสลักเป็นรูปปลารูปจระเข้และสัตว์น้ำอื่นๆ ดูเสร็จแล้วก็เดินไปดูลานพระเจ้าขี้เรื้อน ซึ่งเขาคาดว่าน่าจะเรียกไปด้วยความเข้าใจผิด ในความเป็นจริงเป็นลานที่ใช้ในการพิจารณาคดีความมากกว่า เสร็จจากตรงนี้ก็ได้เวลาไปกินข้าวกันพอดี

กินข้าวกลางวันที่ร้าน --- เอ่อ.. จำชื่อไม่ได้แฮะ ร้านนี้ทำกับข้าวเป็นโต๊ะเขมรคล้ายกับวันที่สอง แต่ว่าอาหารไม่อร่อยเท่า (เป็นที่สังเกตกันว่า อาหารวันแรกจะดีกว่าวันที่สอง ทั้งมื้อเย็นที่เป็นบุฟเฟต์และมื้อกลางวันด้วย) กินเสร็จตอนบ่ายก็ไปดูปราสาทตาพรม ซึ่งเป็นที่ที่น้อง A. Jo (แองเจลิน่า โจลี่) มาใช้เป็นฉากถ่ายหนังเรื่อง Tomb Raider ความจริงไกด์กิตติมศักดิ์ของเราเขาไม่ค่อยมีความชื่นชมอะไรกับปราสาทตาพรมมากนัก เพราะไม่ได้มีความสวยงามหรือมีคุณค่าในทางประวัติศาสตร์มากนัก แต่ว่าก็ยังเป็นไฮไลต์ที่คนต้องมาดู ก็เพราะเขามาดูต้นสมปง (หรือสะปง) ที่ขึ้นใหญ่โตมโหฬารงอกงามอยู่ตามซากปรักหักพังของปราสาท ที่ว่าใหญ่โตมโหฬารก็ขนาดแหงคอตั้งบ่า น่าประหลาดใจก็เพราะคิดว่าต้นไม้ใหญ่ขนาดนั้นไม่น่าขึ้นอยู่ได้โดยปราสาทไม่พัง แต่ที่ขึ้นได้ เป็นเพราะต้นสะปงเป็นไม้เนื้ออ่อนและมีน้ำหนักเบานั่นเอง

ที่ปราสาทตาพรมนี้มีอยู่จุดหนึ่งที่เขาสร้างเป็นอาคารเล็กๆ มีทางเข้าทางออก เขาเล่ากันว่าเป็นที่เขมรเก็บสมบัติ แล้วพวกคนฝรั่งเศสมาค้นเจอก็ขนสมบัติหนีไป คนเขมรมาไม่เจอสมบัติก็เจ็บใจ ตีอกชกตัว ทุบหน้าอกตัวเองเสียงดังลั่น ความจริงคืออะไรไม่มีใครรู้ แต่ถ้าเข้าไปในอาคารหลังนี้ยืนหันหลังตรงกลางของกำแพง แล้วเอามือทุบอกตัวเองเบาๆ จะรู้สึกถึงความสั่นสะเทือนและได้ยินเสียงก้อง สั่นสะเทือนเลื่อนลั่น คาดว่าเป็นการออกแบบอันชาญฉลาดที่กลายมาเป็นของเล่นให้นักท่องเที่ยวได้เฮฮากัน

ออกจากปราสาทตาพรมต้องเดินออกมาพอดูถึงจะถึงที่จอดรถ เดินผ่านวงดนตรีคนพิการที่เล่นเครื่องดนตรีไทย (เอ๊ะ หรือเครื่องดนตรีเขมรหว่า.. ตกลงมันเครื่องดนตรีของใคร) ได้ยินเสียงซอ ระนาด ฉิ่งฉับ เราฟังแล้วก็ เฮ้ย คุ้นชิบเป๋งเลย พอเดินเข้าไปฟังใกล้ๆ อ้าว เล่นเพลงค้างคาวกินกล้วยเสียด้วย ไกด์เขมรยืนอยู่ตรงนั้นบอกว่าให้ช่วยทำทานหน่อย คนพวกนี้พิการแต่ไม่งอมือเท้า บรรเลงเพลงแลกสตางค์ ไม่รู้ว่าเขาเล่นเพลงค้างคาวกินกล้วยเป็นประจำหรือไกด์ไปเตี๊ยมกับเขาไว้ก่อน

หลังจากปราสาทตาพรมแล้วแวะดูปราสาทอีกที่หนึ่ง (ถ้าจำไม่ผิดคือปราสาทพระขรรค์) แต่ที่นี่ไม่ได้ลงเดินเพราะมีเวลาน้อย ฟังไกด์บรรยายประวัตินิดหน่อยแล้วก็ไปปราสาทสุดท้ายคือปราสาทนาคพัน ซึ่งเป็นปราสาททรงกลมที่ตั้งอยู่กลางบ่อน้ำใหญ่ซึ่งมีบ่อน้ำอีก 4 บ่อล้อมรอบ ตัวปราสาทตรงกลางมีนาค 2 ตัวขดพันรอบ ก็เลยเรียกว่า นาคพัน ตอนที่เราไปไม่มีน้ำก็เลยเห็นแต่กำแพงที่กั้นเป็นขอบสำหรับกักน้ำ เขาว่ากันว่าบ่อน้ำเหล่านี้ เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ใช้รักษาโรคได้ และบ่อน้ำ 4 บ่อรอบๆ ก็เป็นตัวแทนของ ทรัพย์ อำนาจ ปัญญา และสุขภาพ (นึกไปถึงตอนที่ไปญี่ปุ่นแล้วที่วัดหนึ่งเขามีน้ำตกสามสายไหลลงมาให้คนได้รองกิน ก็มีให้เลือกว่าเป็นสายของความร่ำรวย สุขภาพ อีกอันจำไม่ได้ว่าเป็นอะไร แต่น่าจะมีคติความเชื่อคล้ายกัน)

ออกจากปราสาทนาคพันแล้ว คนในรถเราก็ใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัวแล้ว เพราะปาเข้าไปตั้ง 4 โมงแล้ว ตามโปรแกรมเขาจะพาเราไปช็อปปิ้งที่ซาจ๊ะ (ซา แปลว่า ตลาด) แต่ว่าต้องกลับโรงแรมก่อนห้าโมงเพื่อไปเช็คอิน เวลาฉุกละหุกขาช็อปก็ชักไม่พอใจ สรุปสุดท้ายเขามีเวลาให้ได้ช็อปปิ้งแค่ประมาณ 20 นาที ทำเอาคนบนรถเราบางคนถึงกับหัวเสีย เรากับแม่ก็ซื้อของได้ไม่เท่าที่ตั้งใจ แต่ก็ไม่เป็นไรไม่ได้คิดว่าต้องซื้ออยู่แล้ว (ได้เสื้อยืดลายเขมรมาตึมเลย แม่จะเอามาแจกหลานๆ แต่ปรากฏว่าพอกลับมาถึงบ้าน เอ๊ะ แจกไม่พอดี นี่ตัวใหญ่ไป นั่นตัวเล็กไป นั่นไม่ใช่ลายที่เราเลือกนี่นา ตกลงซื้อของเขมรราคาทู้กถูก แต่ไม่ค่อยได้ดั่งใจเลย)

กลับมาถึงโรงแรมห้าโมงพอดี ทัวร์มีเซอร์ไพรส์แจกเสื้อยืดหนึ่งตัวกับผ้าพันคอหนึ่งผืนให้ทุกคน เขาให้เวลาเก็บของแป๊บเดียว ยังดีที่เราเก็บกระเป๋าไว้แล้วตอนเช้าก็เลยไม่กระหืดกระหอบมากนัก เราเก็บของเสร็จแล้วก็มีเวลามาถ่ายรูปโรงแรมเล่นอีกแป๊บหนึ่ง แต่ไม่ได้ออกไปถ่ายรูปด้านนอกๆ โรงแรม เพราะกลัวว่ารถจะมารับไปสนามบิน เจ้าหน้าที่ของทัวร์เขาเอารถมาขนกระเป๋าและรับพวกเราไปที่สนามบิน ก็นึกว่าเดี๋ยวจะไปดูซิว่ามีอะไรทำบ้าง แต่เขาไม่ทำให้เวลาสูญเปล่าแม้แต่นิดเดียว ในระหว่างที่เจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งเอากระเป๋าไปเช็คอินที่สนามบิน อีกส่วนหนึ่งก็พาเราไปเที่ยวต่ออีกเป็นที่สุดท้าย คือไปดูบารายตะวันตก เป็นบาราย (อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่) แห่งเดียวที่ยังเหลือในสภาพใช้งานได้ อยู่ไม่ไกลจากสนามบินเท่าไหร่

คำว่าบาราย เป็นของที่มนุษย์สร้าง เราเห็นแล้วก็อัศจรรย์ใจ คนขุดเข้าไปได้ยังไงกันหนอ ขนาดก็คือ กว้าง 2 กม ยาว 8 กม ลึกประมาณ 5-7 เมตร ความจริงถ้ามีเวลาเหลือเขาคงจะพาเราไปเที่ยวปราสาทแม่บุญตะวันตกซึ่งเป็นปราสาทกลางน้ำอยู่ตรงกลางของบาราย แต่ไม่มีเวลาก็เลยได้แต่นั่งเรือชมวิว (ไม่ค่อยมีวิวอะไรหรอก ตามขอบๆ บารายเขาทำเหมือนกับชายหาดตามบ้านเราคือ มีเก้าอี้ตั้ง มีห่วงยางให้เช่า ก็แปลกๆ ดี) กินขนมจีบแกล้ม (เย็นวันสุดท้ายไม่มีอาหารบริการ ฝากท้องกับขนมจีบและอาหารที่จะเสิร์ฟบนเครื่องบิน)

ขึ้นจากเรือก็นั่งรถไปที่สนามบิน เข้าห้องน้ำห้องท่าผ่านขั้นตอนศุลกากร ก็เหลือเวลาให้นั่งรอขึ้นเครื่องไม่นาน เราเดินทางกลับถึงกรุงเทพฯประมาณสองทุ่มกว่าๆ รับกระเป๋าแล้วก็แยกย้ายกันกลับเป็นอันจบทริปเขมร