Cambodia 2003 - Special
เราเล่าเรื่องที่เที่ยวไปแล้ว มีเรื่องที่ไกด์เล่าให้ฟังเกี่ยวกับชีวิตคนเขมร เราฟังแล้วเลยเอามาเล่าต่ออาจจะมีผิดบ้างถูกบ้าง ที่ถูกก็แล้วไปแต่ที่ผิดก็ขอให้โทษคุณสาลี่คุณวรรณาคุณสิทธาไกด์เขมรของเราแต่เพียงฝ่ายเดียว

ภาษาเขมร

ภาษาไทยกับเขมรมีความใกล้เคียงกันอยู่พอดู อาจจะเป็นเพราะเป็นชาวพุทธเหมือนกัน ใช้รากศัพท์จากภาษาบาลีสันสกฤตเหมือนกัน คุณวรรณาบอกว่า ถ้าคนไทยพูดพวกคำราชาศัพท์หรือศัพท์สูงๆ คนเขมรเข้าใจ แต่คำธรรมดาๆ คำแสลง เขาไม่ค่อยเข้าใจ ต้องเรียนต้องจำเอา สาลี่บอกว่าคำราชาศัพท์ของคนไทย คนเขมรใช้เป็นคำธรรมดาๆ หมด อย่างเวลาคลอดลูกเนี่ย เขาบอกว่า ประสูติบุตร อย่างร่มกันแดดกันฝนเนี่ยเขาบอกว่า “ฉัตร” สามีภรรยานี่คนเขมรเรียก “สวาเมย” (สวามี) กับ “มเหสี” เราฟังแล้วขำกิ๊ก มันน่าไปเล่นลิเกจริงๆ เฟ้ย

นอกจากพวกราชาศัพท์แล้ว คำบางเราก็ใช้เหมือนกันหรือใกล้กัน อย่างผลไม้กระท้อนเนี่ย เขมรเขาเรียกว่า “สะท้อน” ก็คงมาจากรากเดียวกันแหละเนอะ แต่ว่าคำบางคำก็ไม่เหมือนไปเลย อย่างมะพร้าวนี่ เขาเรียกว่า “โดง” (หรือ “โตง” เนี่ยแหละ จำไม่ค่อยได้) ไกด์เขมรที่มานำทัวร์ให้กลุ่มเราเขาเก่งภาษาไทยมากๆ แต่ว่าเวลาพูดก็ยังเสียงเพี้ยนอยู่ คงเป็นเพราะโครงสร้างภาษาเขาเป็นแบบนั้น เราไม่แน่ใจว่าเขมรมีโทนเสียงสูงต่ำเหมือนภาษาไทยหรือเปล่า (ในแง่ที่ว่า เสียงสูงก็ความหมายหนึ่ง เสียงต่ำก็ความหมายหนึ่ง อย่าง ไก กับ ไก่ คนละความหมายกันอ่ะนะ) แต่ที่แน่ๆ เขาสามารถออกเสียงสูงต่ำได้ แต่ว่าถ้าเขาไม่ตั้งใจมากๆ ก็เพี้ยนไป เช่น เวลาเขาจะพูดว่า สบาย เขาออกเสียงประมาณ สะ-บ๊าย คำท้ายๆ ของประโยคเขาจะชอบจบด้วยเสียงตรี หรือเสียงจัตวา อันนี้ไม่ได้เป็นแต่ไกด์ แต่เด็กที่มาขายของทั่วๆ ไปก็เป็น เขาชวนเราซื้อของเงี้ย เขาจะบอกว่า “ช่วยซื้อค้อง หนูหน่อยสิผี่” หรือบางทีเป็น “ซื้อหน่อยซิผี” แหม ฟังมันชวนแล้ว ไม่อยากจะช่วยซื้อเลย

คำบางคำของเขมรใช้เหมือนคนไทย แต่มีความชัดเจนกว่ามาก อย่างเช่นที่เคยพูดไปเรื่อง ทะเล (ตนเล ในภาษาเขมร) กับ สมุทร ถ้าบอกว่า ทะเล หมายถึงทะเลสาบน้ำจืด ถ้าทะเลน้ำเค็ม เขาเรียกสมุทร แยกกันไปเลยไม่ต้องเสียเวลาถามกันว่าน้ำจืดหรือน้ำเค็ม อีกอันหนึ่งก็อย่างเช่น “จังหวัด” เขาเรียกเหมือนๆ กับเรา แต่ถ้าอย่าง พนมเปญ เขาไม่เรียก “จังหวัด” เขาเรียก “เมืองหลวง”

คำอื่นๆ ที่เป็นภาษาเขมรที่เรารู้มา เวลาขับรถไปตามถนนรถจะต้องไปหยุดตรง “ไฟอำนาจ” ก็คือไฟเขียวไฟแดงของไทย คนเขมรเจอกันเขาจะบอกว่า “จุ่มเลี๊ยบซู” (จำเริญสุข) เป็นการทักทาย ถ้าจะขอบคุณเขาบอกว่า “ออกุน” ถ้าจะบอกว่า ปฏิเสธก็บอกว่า “อ๊อด” (ไม่) ถ้าบอกว่า “อ๊อดเต็ง” ก็คือ “ไม่ซื้อ” (เอาไว้ตอบ(ไอ้)พวกเด็กๆ ที่มาเรียกเราว่า “ผี...ช่วยซื้อของหนูหน่อย”) คนเขมรมีการใช้คำซ้ำๆ เหมือนคนไทยเหมือนกัน วันแรกที่ไปเขามีน้ำมะพร้าวให้กิน ไกด์เขาชวนพวกเรากินตอนที่มันยัง “กะเด้าๆ” คือ ยัง “เย็นๆ” อยู่ ฟังแล้วจั๊กกะเดี๋ยมยังไงชอบกล อีกอันหนึ่งที่มีประโยชน์น่ารู้ก็คือ “บันตุ้บตึ้ก” แปลว่าห้องน้ำ เราเดาเอาเองว่ามันน่าจะมาจาก “บรรเทาทุกข์” :)

มานึกถึงคำว่า จุ่มเลี๊ยบซู เราชักคิดๆ ว่าบางทีที่ไกด์บอกว่า คนเขมรใช้ราชาศัพท์ของไทยเป็นคำธรรมดา เขาอาจจะไม่ได้ใช้เป็นคำตรงๆ เหมือนอย่างที่เราใช้ก็ได้ แต่เป็นคำที่เทียบกันและออกเสียงเพี้ยนไป ถ้าจะให้รู้และเข้าใจความหมาย คงต้องมีการเรียนรู้โครงสร้างและหลักการภาษากันพอสมควร ที่เราไปแค่วันสองวันแค่นี้ก็ได้ความรู้มาเท่าที่ไกด์เอามา (หลอก) ขายนี่แหละ

เงินทอง-ช็อปปิ้ง-ของใช้

เขาใช้เงิน เรียล แต่เงินเรียลดูไม่ค่อยจะมีค่าเท่าไหร่ คนเขมรพูดราคาอะไรๆ ส่วนใหญ่จะอ้างเป็นยูเอสดอลลาร์หรือเป็นบาทมากกว่า อย่างคุณสาลี่เป็นไกด์ได้เงินวันละ 20 ดอลลาร์ หรือ 800 บาท (แต่มีวันที่ไม่ได้มีงานไกด์ ก็ไปทำนา อาจจะไม่ได้เงินเลย) เงินเดือนครูประมาณ 3000 บาท ข้าราชการประมาณ 1500 บาท (เหมือนไทย คือข้าราชการเงินเดือนน้อย แต่มีสวัสดิการอื่นๆ ด้วย)

เงินไทยเอาไปใช้ซื้อของที่เขมรได้สบาย ถ้าเขาบอกราคาออกมาเป็นดอลลาร์ เราอยากจ่ายเป็นเงินไทยก็คูณ 40 บาทเข้าไป พวกของที่ระลึกต่างๆ ที่มาขายๆ กัน ส่วนใหญ่จะราคาถูก เช่น เสื้อยืดตัวละ 60-70 บาท หนังสือเรื่องราวของเขมรภาพสี่สีอาบมันแบบตั้งราคาขาย 20 ดอลลาร์ เขาขายแค่ 150-200 บาท แต่ตอนที่เขาบอกตอนแรกก็จะบอกแพงกว่านั้นเยอะ คนซื้อก็ต้องต่อรองกันไป

ของใช้ต่างๆ ที่ขายในเขมรส่วนใหญ่มาจากประเทศไทย เขาจะมีรถบรรทุกขนส่งสินค้าขนกันไปวันหนึ่งเป็นสิบๆ คัน (เราเห็นตอนที่นั่งรถไปสนามบิน) เขาบอกว่าตอนที่เขมรมีเรื่องกับไทยจนถึงขั้นเผาสถานทูตไทยแล้วไทยปิดด่านประทัวง ข้าวของขึ้นราคาไปถึงสองเท่า คนเขมรเดือดร้อนมากจนกระทั่งมีการออกมาขู่กันว่า ถ้ารัฐบาลไม่เจรจาให้คนไทยเปิดด่านให้ คนเขมรจะไปเผารัฐบาล

เขมรแต่งงาน

ก่อนแต่งงานต้องทำพิธีหมั้นกันก่อน งานแต่งงานต้องตอนออกพรรษาแล้ว ส่วนใหญ่การแต่งงานจะเป็นการคลุมถุงชน คือ ผู้ใหญ่เป็นคนจัดการให้ ถ้ามีคนมาขอลูกสาว ก็ต้องมีการสืบประวัติผู้ชายคนที่มาขอก่อน ว่าเป็นคนดีหรือเปล่า “เดินเที่ยว” มากหรือเปล่า พอแต่งงานแล้วผู้ชายก็ต้องไปอยู่บ้านผู้หญิง ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะอยู่แค่ประมาณ 1 ปีแล้วก็จะแยกครัวออกมา ถ้าอยู่นานกว่านั้นก็จะมีเรื่องกัน

งานแต่งงานเขาจะจัดงานกันหนึ่งวันครึ่ง จัดเสร็จแล้วก็มีการกินเลี้ยงกันด้วย งานแต่งงานของคนเขมรแพงมาก ผู้ชายต้องมีเงินให้ผู้หญิงประมาณ 4000 ยูเอ๊สโดล่าร์ (US Dollar) หรืออาจจะแพงขึ้นไปถึงหนึ่งหมื่น แต่คุณสาลี่เขาให้มเหสีของเขาแค่สามพันกว่าๆ เพราะว่าเป็นคนรู้จักกันมาก่อน พิธีแต่งงานเขาจะให้ผู้ชายจับสะไบของผู้หญิงเข้าห้องหอ เขาว่าทำตามตำนานเรื่อง “พระทอง นางนาค” ที่ว่า พระทองมาชอบนางนาคที่เป็นปลา จะอยู่ด้วยกันได้ก็ต้องไปขอพ่อแม่ในทะเล นางนาคก็เลยให้พระทองจับหางดำน้ำลงไปในทะเล

คนเขมรแต่งงานแล้วต้องทำ “ใบสมรส” ต้องแจ้งกับ "กำนันบ้านผู้ใหญ่บ้าน" แต่สมัยนี้ก็เริ่มมีการพากันหนีบ้างเหมือนกัน เพราะว่าเขมรเริ่ม “สิ-วา-ไล” (Civilize) ทำตามฝรั่ง ทำให้ประเพณีเสียไป สาลี่บอกว่าคนเขมรทำใบสมรสที่หนึ่งแล้ว จะไปทำอีกที่หนึ่งก็ได้ แบบว่าแต่งงานหลายๆ ครั้งได้ คนในรถฟังแล้วก็หูผึ่งเลย เอ๊ะ เขมรไม่น่าจะสนับสนุน Polygamy แต่พอซักถามละเอียดเข้า สาลี่บอกว่า ทำด้ายยย แต่ว่าต้องไม่ให้บอกใครนะ แหม.. แล้วกัน อุตสาห์ฟังตั้งน้าน... ที่เมืองไทยเขาก็ทำกันแบบนี้เหมือนกันหละ

ที่ดินในเสียมเรียบ

ตอนนี้ที่ดินนอกเมืองราคาตารางวาละประมาณ 50 ดอลลาร์ ในเมืองประมาณร้อยกว่าดอลลาร์ ซึ่งนับว่าแพงกว่าจังหวัดอื่นๆ อาจจะเป็นเพราะเสียมเรียบเขาไม่อนุญาตให้สร้างตึกสูงกว่านครวัด พอขยายทางสูงไม่ได้ก็ต้องขยายทางกว้างที่ดินก็เลยแพง ตอนนี้ที่ดินในตัวเมืองโดนขายไปทำโรงแรมหมดแล้ว จากที่เคยเป็นโรงเรียน เป็นสนามฟุตบอลก็โดนขาย โรงเรียนต้องย้ายไปอยู่นอกเมือง คนที่ขายได้เงินมาก็รวยเอาๆ โดยไม่มีการตรวจสอบ ส่วนใหญ่ก็เป็นพวกที่เป็นญาติพี่น้องกับรัฐบาลนั่นเอง

รถเมล์เขมร

ถ้าสาลี่ไม่ชี้ให้พวกเราดูรถเมล์ที่วิ่งระหว่างเสียมเรียบกับพนมเปญก็คงไม่รู้ว่านั่นคือรถเมล์ คือมันเป็นรถกะบะปิคอัพธรรมดาๆ แบบที่มีเบาะที่นั่งหลังคนขับอีกแถวหนึ่ง (เขาเรียกสเปซแค็บหรือเปล่า) เห็นคนนั่งกันอยู่ที่ท้ายกระบะเต็มเลย ค่ารถจากเสียมเรียบไปพนมเปญถ้านั่งที่กะบะหลังคนละ 300 ร้อยบาท (ที่กะบะไม่มีหลังคาด้วยนะ) ถ้านั่งข้างในรถเสียค่ารถ 400 บาท ที่นั่งในรถนี่ปกตินั่ง 4 คนก็แน่นแย่แล้ว แต่เขมรให้นั่ง 7 คน ถ้าไม่ครบเจ็ดคนรถจะยังไม่ออกจากท่ารถ เพราะได้ค่ารถไม่คุ้มค่าน้ำมัน (น้ำมันลิตรละ 24 บาท) นอกจากนี้ตอนที่วิ่งระหว่างทางก็ต้องหาคนโดยสารไปด้วย ระยะทางเสียมเรียบพนมเปญ 320 กม ใช้เวลาเดินทางประมาณ 8 ชั่วโมง

สถานที่ท่องเที่ยวรายได้หลักของเขมร

มีคนถามเราว่าที่เขมรเขาทำมาหากินอะไรกัน เอาเงินที่ไหนมาสร้างโน่นสร้างนี่พัฒนาประเทศ เราดูๆ แล้ว เงินต่างๆ มาจากชาวต่างชาติไปลงทุน กับ การขายสถานที่ท่องเที่ยว เราเป็นนักท่องเที่ยวไปเที่ยวพวกปราสาทต่างๆ ต้องจ่ายค่าเข้าสถานที่เขาคิดเป็นวัน มีตั๋วขายแบบวันเดียว (20$) สามวัน (40$) เจ็ดวัน (60$) เวลาจะเข้าก็โชว์บัตรให้เจ้าหน้าที่ดู บริษัทที่ขายบัตรเข้าสถานที่ท่องเที่ยวนี้ ไกด์สาลี่บอกว่า ชื่อโรงแรม “ห้องน้ำ” เราฟังแล้วก็งงว่าคนบ้าที่ไหนจะมาตั้งชื่อโรงแรมว่าห้องน้ำ แต่พอดูที่บัตรเขาเขียนว่า Sokha Hotel ซึ่งสาลี่แปลเป็นไทยว่า สุขา หรือห้องน้ำ (เชื่อหรือยังว่าความเข้าใจภาษาไทยของไกด์เราสุดยอด)

สาลี่บอกว่าโรงแรมสุขาได้สัมปทานจากรัฐบาลในการจัดการเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยว เขาเก็บเงินจากนักท่องเที่ยว เงินส่วนหนึ่งจ่ายให้รัฐ ส่วนหนึ่งไปจัดการเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยว ที่เหลือก็เป็นกำไรของเขา เราคิดดูแล้วโรงแรมสุขาน่าจะได้เงินปีหนึ่งๆ มากโขอยู่

รายได้ของคนธรรมดาๆ ก็ยังวนเวียนกับการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการต่างๆ ขายของที่ระลึกไปจนถึงขอทาน ที่เขมรขอทานเด็กๆ เยอะ แต่ทัวร์เขาสั่งไว้ว่าอย่าให้ทานเด็ก เพราะเขาจะเข้ามารุม เคยกรณีที่มีคนไทยโดนรุมขอทานมากก็กลัวก็เลย โยนสตางค์ออกไป คงกะจะให้เด็กๆ เลิกรุมตัวเขาแล้วหันไปทางสตางค์แทน แต่ปรากฏว่าเป็นเรื่องราว เพราะคนเขมรถือว่าการโยนสตางค์ให้เป็นการดูถูกกัน เกือบกลายเป็นเรื่องเป็นราวบาดหมางใหญ่โต เราไม่รู้ว่าเป็นเรื่องจริงหรือเขา “ใส่ไข่” เพื่อให้พวกเราไม่อยากให้ทานกันแน่ แต่เราก็เห็นแม่แอบเอาเงินให้เด็กๆ บางคนเหมือนกัน เราพยายามห้ามแม่ บอกแม่ว่าให้เท่าไหร่ก็ไม่พอหรอก มองไปทางไหนก็จนๆ กันทั้งนั้น แต่ก็ดูเหมือนแม่สบายใจจะทำ

ห้องน้ำ

ห้องน้ำที่ให้บริการนักท่องเที่ยวค่อนข้างจะอยู่ในสภาพดี มีกระดาษให้ใช้ เสียอยู่ก็แต่ตรงที่ว่าไม่มีไฟในห้องน้ำ (คิดว่าไฟเสีย หรือไม่เขาก็ประหยัดไฟฟ้า) ถ้าข้างนอกฟ้าครึ้มไม่พระอาทิตย์ส่องจ้า เข้าไปในห้องน้ำนี่แทบจะต้องเอามือคลำว่าชักโครกอยู่ตรงไหน แล้วกลอนประตูบางห้องก็มีปัญหา แบบว่าใส่กลอนไม่ค่อยได้ คงเป็นที่การก่อสร้างยังไม่ค่อยได้มาตรฐาน

ที่ห้องน้ำนี่เขามีเจ้าหน้าที่นั่งเฝ้าด้วย ตอนแรกคิดว่าเขาจะเก็บตังค์ค่าเข้า แต่ปรากฎว่าไม่เก็บ (เพราะเก็บรวมอยู่ในค่าตั๋วท่องเที่ยวแล้ว) ตอนแรกๆ ที่เราไปเข้าห้องน้ำเรายังไม่รู้ว่าเป็นห้องน้ำที่โรงแรมสุขาเขามาสร้างไว้บริการนักท่องเที่ยว ก็สงสัยว่า เอ๊ะ นี่ประเทศยังไม่เลิกเป็นคอมมิวนิสต์หรือไง ขนาดห้องน้ำยังต้องกำหนดแบบให้สร้างเหมือนกันเดี๋ยะ แต่พอรู้ว่าเป็นการจัดการของบริษัทที่ได้สัมปทานก็เข้าใจได้ เขาก็คงออกแบบสร้างทำอะไรๆ ทีเดียวแล้วก็ใช้ให้มันเหมือนกันหมดนั่นเอง

อาชญากรรม

สาลี่บอกว่าในเขมรเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีโจร ไม่เหมือนตอนสมัยหลังจากที่เขมรแดงเพิ่งโดนโค่นใหม่ๆ ตอนนั้นมีโจรเยอะ เพราะมีปืนกันหมดทุกคน ใครๆ ก็ “ทำเป็นโจร” ได้ แต่สมัยนี้ไม่แล้ว ถ้าใครเป็นโจรแล้วโดนจับได้นี่โดน “เชียด” (เชือด) เลย

มีคนถามว่าเขมรมียาบ้าระบาดไหม สาลี่อึ้งไปนิดหนึ่งแล้วตอบว่า ตอนนี้เริ่มมียาบ้าแล้ว เพราะเอามาจากเมืองไทย (อายเขมรไหมเนี่ย เราว่าที่สาลี่อึ้งไปคงเป็นเพราไม่ชอบใจที่มียาบ้าระบาดมาจากไทย ประมาณอยากจะด่าแต่ก็เกรงใจ) ถ้าจับได้ก็โดนติดคุก ยาบ้ายังมีไม่เยอะ แต่ที่มีเยอะคือกัญชา คนเขมรไม่ได้เอากัญชาไว้สูบ แต่เอาไว้ต้มไก่ทำก๋วยเตี๋ยวกิน ซึ่งมีการค้าขายกัญชาเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้ตำรวจไม่จับ