My Favourite Author..

วันนี้ยังไม่ได้เขียนเรื่องอะไรใหม่ๆ ความจริงมันมีอะไรหลายๆ อย่างที่อยากจะพูดถึง แต่ว่าความคิดมันกระจัดกระจายฟุ้งซ่านไปหมด จนไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นทางไหน และให้มันไปทางไหนต่อ เลยว่าจะโกงด้วยการเอาเรื่องที่ได้อ่านในมติชนรายวันฉบับวันอาทิตย์มาให้อ่านกัน เอามาจากคอลัมน์ชื่อ “บทความธรรมดา” ของหลวงเมือง ซึ่งเป็นนักเขียนที่เราชอบอ่านผลงานของเขามากคนหนึ่ง เมื่อก่อนเราคิดว่าเขาเป็นคนคนเดียวกับครูอบ ไชยวสุ (หรือ ฮิวเมอร์ริสต์ ถ้าใครเป็นแฟนต่วย’ตูน คงจะเคยได้ยินหรือเคยอ่านทั้งผลงานของสองท่านมาบ้าง) เพราะมีสไตล์การเล่าเรื่องที่คล้ายกัน เรารู้สึกว่าเรื่องที่เขาเล่ามันมีภาษาที่แปลกๆ และมีอารมณ์ขันที่มีเอกลักษณ์ ลองอ่านดูละกันนะ

“หัวกับตัว” โดย “หลวงเมือง" จากคอลัมน์บทความธรรมดา มติชนรายวัน วันอาทิตย์ที่ 11 พฤศจิกายน 2544

เพื่อนคนหนึ่งของข้าพเจ้ารักใคร่ชอบพอกับดาราอยู่สองสามคน เคยพาไปที่บ้าน การใช้คำว่าไปก็ด้วยถือว่าท่านผู้อ่านเป็นหลักสำคัญในการสื่อสารกันคือขณะเขียนเรื่องนี้คิดว่าข้าพเจ้านั่งเล่าเรื่องอยู่ที่บ้านท่าน เข้าใจว่าท่านคงนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ฉบับนี้อยู่ที่ไหนสักแห่งหนึ่ง ซึ่งมิใช่ที่บ้านข้าพเจ้า

เขาบอกชายหนุ่มหน้าตาท่าทางสุภาพว่าข้าพเจ้าเป็นใคร อันที่จริงเขาควรบอกข้าพเจ้าว่าคุณนั่นเป็นใคร ตามระเบียบของการสมาคมสมัยโบราณ แต่ไม่เป็นไรข้าพเจ้าไม่ถือ จึงถามว่าเป็นตัวอะไร เขาตอบว่าเป็นเพระเอก ข้าพเจ้าจึงว่าอ๋อนายโรง เขาร้องว่าเปล่าครับ ผมแสดงละครโทรทัศน์มิใช่ลิเก

ข้าพเจ้าจึงถามเพื่อนว่ามากันกี่ตัว เพื่อนจับไหล่ข้าพเจ้าแล้วว่าเราจะไม่ใช้คำว่าตัวกับนักแสดงอีกต่อไป ข้าพเจ้าถามใหม่ว่ามากันกี่ท่าน เพื่อนก็ดุให้ว่าชักจะมากไป ให้เรียกว่านักแสดงหรือดารา และใช้คำว่าคน

เราเรียกคนว่าตัวในกรณีต่างๆ เช่น ตัวประกัน ตัวการ ตัวกลั่น ตัวเก่ง ตัวแสดง ตัวชูโรง ตัวดี ตัวร้าย และ ตัวแสบ ฯลฯ เป็นต้น

ในกรณีที่พูดกันเป็นส่วนตัว มิใช่โฆษณาเชิญชมการแสดง เราเรียกผู้แสดงว่าคน เช่น มีดารามาร่วมจำหน่ายดอกไม้เพื่อการกุศลวันนี้หลายคน ไม่ใช้ว่าหลายตัว หนุ่มสาวหลายคู่เรียกกันโดยใช้คำแทนชื่อว่าตัวและเขา ต่อมาคำว่าตัวกลายเป็นตัวเอง ส่วนเขายังคงเป็นเขาตามเดิม ในภาษาพูดมักใช้ว่าเค้า แต่ตัวยังเป็นตัว ไม่เป็นตั่วตั้วตั๊วหรือตั๋ว

เขาแทนคำว่าผมดิฉันหรืออั๊ว คำว่าตัวหรือตัวเองแทนคำว่าคุณหรือลื้อหรือเอ็ง ก็ว่า

นานแล้วเพื่อนอีกคนหนึ่งของข้าพเจ้าไปเที่ยวตลาดนัดวัดกลาง แล้วผ่าเห็นลูกสาวแม่ค้าคนหนึ่งสวยจับตาจับใจเป็นอันมาก วันอาทิตย์ต้องไปนั่งกินโจ๊กและโอเลี้ยงเพื่อจะได้เห็นผู้หญิงรุ่นกระเตาะคนนั้น จนเป็นที่น่าวิตกว่าต่อไปเขาจะช่วยแม่ยายหาบของสวนมาขายที่ตลาดนัดไหวหรือ

แต่ก่อนความรักจะฟักตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา เขาก็มานั่งหน้าเมื่อยอยู่กับข้าพเจ้า จึงถามว่าความรักก้าวหน้าไปถึงไหน ได้พูดจากันบ้างหรือยัง เขาตอบว่าไม่ได้พูดและไม่พูดแล้ว…ข้าพเจ้ามองเขาด้วยสายตาที่แข็งกร้าวและคมกริบพร้อมตวาดในใจว่า ปุ้ดโธ่…ทำไมล่ะคนบ้า

เขาคงเข้าใจความหมายในสายตาของข้าพเจ้าตามหลักที่ว่าดวงตาคือหน้าต่างของดวงใจ และรักย่อมเข้าใจในรัก จึงตอบว่า

"ผมไม่สนใจเขาอีกต่อไปเพราะเขาเรียกหนังสือว่าหัว ไม่เรียกว่าเล่ม"

นั่นเป็นเรื่องเมื่อห้าสิบปีมาแล้ว แต่ต่อมาช้าพเจ้ายังได้ยินคำว่าหัวในภาษาราชการ เช่น คิดเป็นรายหัว

มีครอบครัวหนึ่งลงจากรถยนต์เดินไปตามหาดทรายชายทะเล จะเช่าเสื่อนั่งเล่น คนที่มีเสื่อให้เช่าพูดว่ามากัน 7 หัว คิดเป็นรายหัวก็แล้วกัน

"เราไม่ได้ใช้หัวนั่ง…ทำไมไม่คิดเป็นรายก้น" ชายศรีษะล้านท่านหนึ่งในกลุ่มนั่นถามโดยโกรธ

------------------

จะบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เป็นแนวการเขียนแบบหลวงเมือง (และฮิวเมอร์ริสต์) แท้ๆ เลย คือขึ้นต้นมาไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย จบลงก็ไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย อารมณ์ขำเขาก็แปลกๆ แบบอ่านแล้วก็ไม่ค่อยแน่ใจว่าตรงไหนเขาจะให้ขำ ตรงไหนจะไม่ให้ขำ แล้วก็มีสอดแทรกความรู้เกี่ยวกับการใช้คำใช้ภาษาสมัยเก่าๆ เอาไว้ ความที่เราเป็นเด็กต่างจังหวัด คำพูดคำจาที่เขาใช้เราก็พอยังเคยได้ยินอยู่บ้าง ก็เลยเหมือนได้ย้อนกับไปสู่บรรยากาศเก่าๆ สมัยเป็นเด็กอีกครั้งหนึ่ง

อ้อ... หลวงเมือง เขาเขียนเรื่องอีกแนวหนึ่งอยู่ในมติชนสุดสัปดาห์ด้วยนะ เป็นเรื่องทำนองลี้ลับ ผีๆสางๆ ไสยศาสตร์ บาปบุญคุณโทษ เจ้ากรรมนายเวร อะไรทำนองนั้น ชื่อคอลัมน์ นาฏกรรมเมืองหลวง (หรือนาฏกรรมหลวงเมือง หวา? ไม่แน่ใจจริงๆ ให้อภัยคนเป็น Dyslexia ด้วยเถอะนะ) ตอนแรกๆ เราที่เราเริ่มอ่าน เราก็หวังว่ามันจะเป็นเรื่องตลกทำนองอย่างที่ได้อ่านกันไปข้างบน แต่ปรากฏว่า มาแนวเรื่องเหนือจริง แบบว่ามีการระลึกชาติได้ มีการใช้วิชาอาคมไสยศาสตร์ อ่านแล้วก็แปลกๆ แต่ก็สนุกดีนะ เราว่าเขาก็ยังมีวิธีการเล่าเรื่องที่น่าสนใจ และเรื่องที่เขาเล่ามามันก็หลากหลายมากมาย และสมจริงสมจังมาก จนกระทั่งคนที่ไม่ชอบคำพูดที่ว่า ไม่เชื่อแต่อย่าลบหลู่ ยังต้องยอมรับว่า เรื่องที่เขาเล่าเนี่ย ถึงไม่เชื่อ แต่ก็อย่าลบหลู่ เอ้ย ถึงไม่เชื่อแต่ก็อ่านสนุกได้ อืมม์ ว่าแล้วก็รู้สึกว่า มติชนออนไลน์จะมีเรื่องของเขาให้อ่านบ้างนะ เดี๋ยวจะลองไปค้นๆ ดู ถ้าเจอจะทำลิงค์ไว้ให้