ทำผิดต้องไม่ยอมรับผิด
วันก่อนโน้นไปซื้อของที่วัตสัน ซื้อโลชั่นลดราคา ตอนไปที่เคาน์เตอร์เห็นลิสเตอร์รีนพ็อคเก็ตแพ็ด (เรียกแบบนี้เปล่าไม่รู้ ที่เป็นเหมือนกระดาษแผ่นบางๆ พอเอาเข้าปากก็ละลายเลยอ่ะ) ก็เลยหยิบมาด้วย ตอนจ่ายตังค์ปรากฎว่าโลชั่นลดราคาต้องเรียกหัวหน้ามากดรหัสลดราคาให้ ประมาณว่าเขาประกาศราคาไว้แล้ว แล้วบริษัทผู้ผลิตปรับราคาขึ้น ก็เลยต้องมีการใส่รหัสพิเศษเพื่อปรับราคาลงมา ให้เป็นไปตามที่เคยประกาศไว้ (ประมาณว่าไม่งั้นจะโดนเรื่องสิทธิผู้บริโภค)

พอหัวหน้าใส่รหัสเสร็จเขาก็คงกดเอ็นเทอร์เลย แคชเชียร์ยังไม่ทันได้สแกนราคาของลิสเตอร์รีนฯ (ราคา ๔๕ บาท) เขาก็บอก (กับใครไม่รู้ แต่เราได้ยิน) ว่า อันนี้ต้องทำรายการแยกกัน เราก็ยิ้มกริ่มในใจ จะรอดูว่าเขาจะทำยังไง เพราะเราจ่ายบัตรเครดิต ที่วัตสันเนี่ย เขามีกฎว่า ต้องซื้อของเกิน ๓๐๐ ถึงจะรับบัตร แคชเชียร์เอาสลิปมาให้เราเซ็นแล้วก็บอกว่า ค่าลิสเตอร์รีนต้องจ่ายเป็นเงินสด เราก็แกล้งถาม(แบบโหดๆ )

เรา: ทำไมใช้บัตรไม่ได้ล่ะ
เขา: ต้องซื้อ ๓๐๐ ถึงจะใช้บัตรได้
เรา: ก็ถ้ารวมกับโลชั่น มันก็เกิน ๓๐๐ ทำไมคุณไม่ทำรายการรวมกัน
เขา: พอดีถ้าคีย์โค้ดลดราคาไปแล้วมันจะสแกนรายการต่อไปไม่ได้
เรา: ก็แล้วทำไมคุณไม่สแกนอันนี้ (ลิสเตอร์รีนฯ)เข้าไปก่อนล่ะ
เขา: คือที่นี่เขามีระบบว่า ให้สแกนของราคาสูงเข้าไปก่อนครับ
เรา: แล้วคุณจำราคาของได้หมดเลยเหรอ ของทั้งร้านมีไม่รู้ตั้งกี่รายการ คุณจำได้หมดเลยเหรอว่าอันไหนราคาแพงกว่าอันไหน
เขา: (อ้ำๆ อึ้งๆ พูดไม่ถูก) ตกลงจะรับไหมครับ
เรา: นี่ตกลงว่า ถ้าจะเอาอันนี้ต้องจ่ายเงินสดใช่มะ
เขา: ใช่ครับ
เรา: นี่ มันเป็นความผิดของใครอ่ะคะ ที่ฉันต้องจ่ายเงินสดทั้งๆ ที่ตั้งใจจ่ายบัตรเครดิต
เขา: (อึ้งอีกรอบ ในที่สุดก็ยังจะคิดเถียงข้างๆ คูๆ ต่อ) ก็ระบบมันเป็นอย่างนี้อ่ะครับ
เรา: อ๋อ... ตกลงเป็นความผิดของระบบซินะ
เขา: ... -_-'
เรา: คุณบริการดีมากเลยค่ะ (แล้วก็เดินออกมา)

ความจริงเหตุการณ์นี้มันพอกันทั้งพนักงานบ้านั้น แล้วก็ทั้งเราที่ทำตัวเป็นยัยบ้าจิตป่วน แต่วันนั้นของกำลังขึ้น เลยทนคนที่ทำผิดพลาด แล้วโทษโน่นโทษนี่ไม่ยอมรับไม่ได้ โธ่เอ๋ย... ถ้าคุณพูดออกมาแค่ว่า ผมขอโทษครับ พอดีผมบอกพี่ที่เป็นหัวหน้าไม่ทันว่า คีย์โค้ดให้แล้ว อย่าเพิ่งเอ็นเทอร์ เพราะยังมีของอย่างอื่นอีก แต่พอพี่เขาเอ็นเทอร์ไปแล้ว ผมก็ทำรายการต่อไม่ได้ ก็เท่านี้แหละ เราก็ไม่ได้จะเอาอะไร คนเราพลาดกันได้ พลาดแล้วก็ขอโทษ ให้รู้ตัวว่าพลาด แล้วก็จำไว้ว่าอย่าพลาดซ้ำอีก ก็เท่านี้แหละเล่นแก้ตัวแบบนี้ คิดว่าเราโง่หรือไง ถึงจะได้เชื่อคำแก้ตัวบ้าๆ บอๆ แบบนั้น เราเลยต้องไล่ให้จน ให้หมดเนื้อหมดตัวเสื้อผ้าไม่มีใส่ (จนสุดๆ)

พอเรามานึกย้อนอีกที นี่ถ้าเราเป็นพนักงานนั่นเอง เราอาจจะยอมให้ลูกค้าใช้บัตร (ถ้ามีอำนาจทำได้) แล้วไปอธิบายกับหัวหน้าทีหลังว่า เป็นความผิดของเราเอง เราว่ากฏขั้นต่ำ ๓๐๐ บาทตั้งขึ้นมาเพื่อป้องกันไม่ให้คนส่วนใหญ่มาใช้บัตรเครดิตกับของจุกจิก ร้านค้าจะได้เงินไม่คุ้มกับค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายให้บริษัทบัตรเครดิต แต่กฎนี้มันน่าจะมีข้อยกเว้น ในกรณีนี้ เขามีหลักฐานแสดงว่าก่อนหน้านี้เราก็ซื้อของเกิน ๓๐๐ บาท และทำรายการติดกันเลย ไม่ได้เป็นเพราะเขาไปยอมให้ลูกค้าใช้บัตรเครดิตกับยอดเงินที่ต่ำกว่าที่ตั้งไว้

อีกอย่าง ร้านค้าก็ไม่น่าจะมีความเสียหายอะไร อันนี้เดาจากที่ว่า บริษัทบัตรเครดิตคิดค่าธรรมเนียมเป็นเปอร์เซนต์จากยอดเงิน ไม่ใช่จากจำนวนครั้งที่รูดบัตร (แต่ถึงจะคิดจากจำนวนครั้ง ก็น่าจะต้องยอม เพราะเป็นความผิดของพนักงาน ไม่ใช่ของลูกค้า) แต่ก็นั่นแหละ เขาก็ไม่ทำหรอก ให้ลูกค้าไม่พอใจออกจากร้านไป ดีกว่าต้องไปอธิบายให้หัวหน้าฟัง ต้องโดนหัวหน้าซักถาม (คนไทยกลัวการโดนซักถามนะ เหมือนกับว่าไปทำความผิดอะไรมา แต่ที่จริงคืออาจจะเป็นแค่ต้องการทราบข้อมูล)

เราว่า พนักงานคนไทย ส่วนใหญ่ ไม่กล้าคิดแหกกฎหรือ “ท้าทายอำนาจองค์กร” ทั้งที่บางกรณีมีเหตุให้ทำได้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะไม่ค่อยวิจารณญาณว่ากรณีไหนที่มีเหตุควรให้ต้องแหกกฎหรือท้าทาย อีกส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะเป็นนิสัยยอมคน ประนีประนอม ไม่คิดมาก ไม่ยึดมั่นความถูกต้อง... แต่พอคิดอีกที ถ้าพนักงานเป็นคนมีวิจารณญานกล้าคิดกล้าตัดสินใจ เขาคงไปเป็นหัวหน้า ไปเป็นผู้จัดการแล้ว